xs
xsm
sm
md
lg

UN ชี้ประชากรลาวปัจจุบันเกือบ 50% อายุไม่ถึง 25 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online - ข้อมูลล่าสุดจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติระบุ เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรลาวปัจจุบันมีอายุไม่ถึง 25 ปี รัฐจำเป็นต้องลงทุนระยะยาวเพื่อพัฒนาศักยภาพคนในประเทศ ขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มจาก 55 ปี เมื่อปี 2537 มาเป็น 68.5 ปี ในปี 2563

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz ได้รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลประจำปี 2567 ของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ระบุว่า จำนวนประชากรลาวได้เพิ่มจาก 6.7 ล้านคน เมื่อปี 2558 มาเป็น 7.68 ล้านคน ในปี 2566 เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคน ในเวลา 7 ปี คาดว่าประชากรลาวจะเพิ่มเป็น 8.3 ล้านคน ในปี 2573 และแนวโน้มประชากรลาวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2612

จากข้อมูลของ UNFPA คาดว่าประชากรลาวซึ่งอยู่ในวัยทำงานจะมีสัดส่วน 66.5% ของประชากรรวมในปี 2573 และจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นไปถึง 69% ในปี 2593

อัตราส่วนการเสียชีวิตของผู้เป็นแม่ในลาวลดลง 78.7% ระหว่างปี 2543-2563 ทำให้ลาวเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่อัตราส่วนการเสียชีวิตของผู้เป็นแม่ลดลงเร็วที่สุด

อัตราส่วนการคุมกำเนิดของหญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่แต่งงานแล้ว (อายุ 15-49 ปี) เพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2555 มาเป็น 54.1% ในปี 2560

เนื่องจากลาวมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุข อายุเฉลี่ยของคนลาวได้เพิ่มจาก 55 ปี เมื่อปี 2537 ซึ่งเป็นปีที่มีการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development : ICPD) มาเป็น 68.5 ปี ในปี 2563

ระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ความพยายามเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชน การชี้นำของรัฐบาล และการลงทุนจำนวนมากในป้องกันความรุนแรงต่อสตรี ทำให้การยอมรับและความอดทนต่อความรุนแรงภายในครอบครัวของลาว ลดลงอย่างมาก

ปัจจุบัน ลาวอยู่ช่วงในระยะกลางของการเปลี่ยนผ่านทางด้านประชากร โดยมีปัจจัยสำคัญคือ อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับ 2.3 คน ต่อผู้หญิง 1 คน ขณะที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

ประชากรลาวปัจจุบัน เกือบครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 25 ปี จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนพัฒนาศักยภาพของประชากรในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าอัตราการตั้งครรภ์ของเยาวชนยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญต่อกรณีนี้ โดยข้อมูลระบุว่าเด็กหญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาจะมีอัตราการคลอดบุตรสูงกว่าเด็กหญิงที่ได้รับการศึกษาถึง 8 เท่า ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้หญิงลาวที่อายุ 20-24 ปี ได้แต่งงานก่อนจะมีอายุถึง 18 ปี

ประชากรลาวเพียง 18% เท่านั้นที่ตัดสินใจด้วยตนเองเรื่องการคุมกำเนิด และ 45% ของประชากรที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองเรื่องการดูแลสุขภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น