MGR Online - รัฐกะยาเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูสภาพเมืองลอยก่อที่เสียหายหนักจากการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้าน มหาวิทยาลัย ศาลาว่าการ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมชนเผ่า และสนามบินลอยก่อ เป็นเป้าหมายแรกที่ต้องถูกซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นใหม่
วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐในเมืองลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐกะยา ได้ระดมกำลังคนจำนวนมากเข้าทำความสะอาดสถานที่สำคัญหลายจุดภายในตัวเมือง เพื่อเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูสภาพตัวเมืองที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วงที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน ตั้งแต่ปลายปี 2566 ต่อเนื่องถึงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
สถานที่ซึ่งถูกจัดให้มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ที่ต้องถูกซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นใหม่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยลอยก่อ อาคารที่ทำการของเจ้าหน้าที่และห้องรับรองของรัฐบาลรัฐกะยา พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมชนเผ่า สนามบินลอยก่อ รวมถึงวัด เจดีย์ ตลอดจนถนนหนทางในชุมชนหลายแห่งทั่วตัวเมือง
มีรายงานว่า จนถึงวันที่ 12 กรกฎาคม เป็นเวลากว่า 1 เดือนเต็มแล้วที่บรรยากาศในตัวเมืองลอยก่อได้กลับมาสงบสุขอีกครั้ง ไม่มีเสียงปืน เสียงระเบิดดังให้ได้ยินเหมือนเมื่อไม่กี่เดือนก่อน
กองกำลังป้องกันชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง (KNDF) กองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลเงา (PDF) และกองทัพกะเหรี่ยงแดง (KNPP) ได้สนธิกำลังกันเปิดปฏิบัติการที่ใช้ชื่อว่า "1111" เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 บุกโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพพม่าที่กระจายอยู่ในหลายเมืองของรัฐกะยา โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้ายึดครองพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะเมืองลอยก่อซึ่งเป็นเมืองหลวง จนมีการต่อสู้อย่างรุนแรงเกิดขึ้นไปทั่ว
วันที่ 29 มกราคม 2567 กองทัพพม่าได้เปิดปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อตอบโตกลับ มีการบันทึกข้อมูลไว้ว่า มีการต่อสู้ระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังผสม KNDF-PDF-KNPP เกิดขึ้นทั้งสิ้น 87 ครั้ง จนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 กองทัพพม่าสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ตลอดแนวทางหลวงหมายเลข NH 5 (สี่แสง-ลอยก่อ) ระยะทางรวม 42 ไมล์ หรือประมาณ 68 กิโลเมตร และกลับมายึดเมืองลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะยาคืนได้ในเดือนมิถุนายน
สำนักข่าว Kantarawaddy Times รายงานว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนกลไกรัฐในเมืองลอยก่อได้เริ่มกลับมาทำงานได้อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลรัฐกะยาได้จ่ายเงินสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐในเมืองลอยก่อ จำนวน 551 คน ที่ได้รับผลกระทบในการดำรงชีพช่วงที่ยังมีการต่อสู้กัน รวมถึงโรงพยาบาลประจำเมืองลอยก่อก็สามารถเปิดรับคนไข้ได้อีกครั้ง
ตามรายงานข่าว ยังไม่มีการระบุเป้าหมายที่ชัดเจนว่า การฟื้นฟูตัวเมืองลอยก่อต้องใช้เวลากี่เดือน และจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้เมื่อใด
รัฐกะยาอยู่ทางภาคตะวันออกของพม่า มีชายแดนติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย มีพื้นที่รวม 11,731.5 ตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงแดงและไทใหญ่ การสู้รบที่เกิดขึ้นในหลายเมืองของรัฐกะยาเมื่อปลายปี 2566 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2567 ทำให้ชาวบ้านหลายพันคนต้องอพยพข้ามชายแดนเข้ามาลี้ภัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน.