xs
xsm
sm
md
lg

"สภาลาว" ตีตก กม.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ชี้หวังแต่ดึง "เงินลงทุน" ไม่รัดกุมกำกับดูแล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เป็นเหมือนเป็นอาณาจักรหนึ่งของกลุ่มคิงส์โรมัน จากจีน
MGR Online - สภาแห่งชาติลาวโหวตไม่รับรองร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เสนอโดยรัฐบาล ชี้เหตุเนื้อหาไม่รัดกุม หวังเพียงดึงเม็ดเงินลงทุน แต่กลับไม่มีความชัดเจนเรื่องการควบคุม การบริหาร และการให้สัมปทาน

วานนี้ (21 พ.ย.) เพจวิทยุซาวหนุ่มลาว (Lao Youth Radio FM 90.0 Mhz) รายงานว่า ในการประชุมสภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 สมัยสามัญครั้งที่ 6 ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นลง ปรากฏว่าที่ประชุมได้มีมติไม่รับรองร่างกฎหมายว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เสนอเข้ามาโดยรัฐบาล

เหตุผลที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านการเห็นชอบ เป็นผลจากที่สมาชิกสภาแห่งชาติหลายคนได้ลุกขึ้นอภิปราย โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีความรัดกุมเพียงพอ เนื่องจากเนื้อหาของกฎหมายเน้นหนักเฉพาะเรื่องการกำหนดนโยบายเพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่ได้ลงลึกเรื่องการควบคุม การกำกับดูแล การบริหาร รวมถึงการกำหนดหลักการ การรับรองจุดที่ตั้ง การเสนอโครงการพัฒนา สิทธิของผู้พัฒนา พันธะของผู้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการกำหนดอายุของสัมปทานที่ชัดเจนเท่าที่ควร

ในข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดเนื้อหาของร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ บอกเพียงโครงสร้างว่า มี 12 ภาค 16 หมวด 90 มาตรา หลังจากสมาชิกสภาโหวตไม่รับรองแล้ว ที่ประชุมสภาแห่งชาติได้ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้คืนแก่รัฐบาลเพื่อให้นำกลับไปปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติม จากนั้นจึงค่อยนำกลับมาเสนอให้สภาแห่งชาติพิจารณาใหม่ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 7

การประชุมสภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 สมัยสามัญครั้งที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-21 พฤศจิกายน 2566 มีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณารวม 8 ฉบับ มีการอภิปรายเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้งหมดเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน จากนั้นได้นัดลงคะแนนเสียงว่าจะรับรองหรือไม่รับรองร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับ เมื่อวานนี้ (21 พ.ย.) ซึ่งปรากฏว่าที่ประชุมมีมติรับรองร่างกฎหมาย 7 ฉบับ มีเพียงร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษเพียงฉบับเดียวที่ไม่ผ่านการรับรอง

รัฐบาลลาวมีนโยบายมาตั้งแต่ปี 2546 เปิดให้เอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ในแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เปิดขึ้นรองรับการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ที่เชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridors) หลังจากนั้น มีการลงทุนสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ


อย่างไรก็ตาม เขตเศรษฐกิจที่เปิดทีหลังโดยเฉพาะตามแนวชายแดน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ในเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่รัฐบาลลาวได้ให้อำนาจในการกำกับดูแลพื้นที่ภายในแก่บริษัทดอกงิ้วคำ ในเครือคิงส์โรมันจากจีน ผู้เป็นเจ้าของสัมปทานมากเสียจนมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเหมือนเป็นการยกดินแดนให้คิงส์โรมันไปครอบครองโดยปริยาย

ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงแผนการและการลงทุน ซึ่งถูกนำเสนอโดยหนังสือพิมพ์ประชาชน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ระบุว่า ทั่วประเทศลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งสิ้น 21 แห่ง ตั้งอยู่ใน 7 แขวง มีพื้นที่ซึ่งได้ให้สัมปทานไปแล้ว 33,088 เฮกตาร์ หรือ 206,800 ไร่ เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับการพัฒนาแล้ว 23,776 เฮกตาร์ หรือ 148,600 ไร่ มีบริษัทเข้ามาลงทุนเปิดกิจการแล้ว 1,377 แห่ง

ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่ในลาวสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้ทั้งสิ้น 111 บริษัท ทุนจดทะเบียนรวม 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามารวม 419 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นบริษัทของคนลาว 12 บริษัท บริษัทต่างชาติ 96 บริษัท และเป็นบริษัทร่วมทุนอีก 3 บริษัท 71% ของบริษัทเหล่านี้ทำธุรกิจบริการ สร้างรายได้เข้าระบบงบประมาณของรัฐ 124 พันล้านกีบ.


กำลังโหลดความคิดเห็น