xs
xsm
sm
md
lg

ผลผลิตจากเขื่อนไฟฟ้าผันผวน กัมพูชาเตรียมเพิ่มโครงการพลังงานแสงอาทิตย์-นำเข้าจากเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - กัมพูชาจะขยายขนาดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านการเชื่อมต่อโครงข่ายระดับภูมิภาค เพื่อจัดการกับความผันผวนของผลผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของประเทศเผยกับรอยเตอร์

ไฟฟ้าพลังน้ำมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้ไฟฟ้าต่อปีของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ แต่ผลผลิตกลับมีความผันผวนเนื่องจากการหยุดชะงักที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ทำให้จำเป็นต้องกระจายความหลากหลายของแหล่งพลังงาน

ผลผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของเอเชียในปีนี้ลดลงในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานต้องต่อสู้กับความต้องการไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงง่ายและสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนทำให้ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น

“เราจะต้องพึ่งพลังงานแสงอาทิตย์และลมอย่างหนักเพื่อทดแทนสิ่งที่พลังงานน้ำมอบให้ รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายจากเวียดนามและลาว” แก้ว รัตตะนาค รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของกัมพูชา กล่าวกับรอยเตอร์ ระหว่างเข้าร่วมงาน Singapore International Energy Week

กัมพูชาใช้ประโยชน์จากพลังงานน้ำเพื่อแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ต่างไปจากประเทศเอเชียขนาดกลางอื่นๆ เช่น มาเลเซีย และเวียดนามที่หันไปใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงานของประเทศ

“พลังงานน้ำมีบทบาทสำคัญ แต่พลังงานน้ำอาจผันผวนตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน นโยบายของเราคือการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เป็นช่วงๆ โดยพื้นฐานแล้วคือพลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนใหญ่” แก้ว รัตตะนาค กล่าว

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กัมพูชายังคงมองว่าพลังงานน้ำเป็นศูนย์กลางของการผสมผสานพลังงานผ่านโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ

กัมพูชาจะประกาศโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับขนาด 1,000 เมกะวัตต์ในอีก 2 สัปดาห์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานระบุ และเสริมว่าข้อตกลงการแลกเปลี่ยนพลังงานพหุภาคีจะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในภูมิภาค

“ถึงเวลาที่จะยุติข้อตกลงทวิภาคี ถึงเวลาที่จะเริ่มต้นการเชื่อมต่อกันในระดับอนุภูมิภาคและในระดับภูมิภาค” รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของกัมพูชากล่าว และเสริมว่า กัมพูชาจะมีบทบาทในเชิงรุกเพื่อให้แน่ใจว่าบรรดาผู้นำจะทบทวนแนวคิดโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียนอีกครั้ง

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ พยายามมานานหลายทศวรรษที่จะสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าพลังงานพหุภาคี แต่ความคืบหน้ายังจำกัดอยู่เพียงข้อตกลงทวิภาคี

“หากเราสามารถวางสายเคเบิลใต้น้ำสำหรับอินเทอร์เน็ตได้ เราก็ต้องสามารถวางสายเคเบิลใต้ทะเลสำหรับไฟฟ้าได้” แก้ว รัตตะนาค กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น