MGR Online - แบงก์ชาติลาวตั้งแล้ว บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อแยกดูแลหนี้ดี-หนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน ยึดบทเรียนจากประเทศไทย และเวียดนามเป็นแนวทางการทำงาน
เย็นวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมลาวพลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีพิธีเปิดตัวบริษัทบริหารหนี้และทรัพย์สิน จำกัด โดยมีนายบุนเหลือ สินไซวอละวง ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว (ทหล.) นายพูทะนูเพ็ด ไซสมบัด รองรัฐมนตรีกระทรวงการเงิน นางวัดทะนา ดาลาลอย และนางขันแก้ว หล้ามะนีเงา รองผู้ว่าการ ทหล. เข้าร่วม
นางคำหล้า เฮือนมะนีวง รองหัวหน้ากรมควบคุมธนาคารพาณิชย์ ทหล. กล่าวรายงานว่า ทหล.ได้แยกศูนย์บริการเก็บซื้อหนี้และรับฝากเก็บหนี้ ซึ่งเดิมขึ้นกับ ทหล. ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทบริหารหนี้และทรัพย์สิน มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่บริหารหนี้เสียและทรัพย์สินรอการขายของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่อยู่ในลาวโดยเฉพาะ เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ซึ่งหากสามารถขายทรัพย์สินและหนี้เสียเหล่านั้นได้จะเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเหล่านั้น
บริษัทบริหารหนี้และทรัพย์สินที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการเงินเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีทุนจดทะเบียน 3 หมื่นล้านกีบ หรือประมาณ 52 ล้านบาท โดยนำบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยและเวียดนามมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน มีกรมควบคุมธนาคารพาณิชย์ ทหล. เป็นหน่วยงานที่คอยกำกับดูแล
ปัจจุบัน ลาวมีธนาคารพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 38 แห่ง แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ 1 แห่ง ธนาคารเฉพาะกิจ 1 แห่ง ธนาคารที่รัฐร่วมทุนด้วย 5 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ของเอกชนลาว 7 แห่ง ธนาคารที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 8 แห่ง และเป็นสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศอีก 16 แห่ง
นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารกระจายอยู่ทั่วประเทศอีก 128 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันการเงินจุลภาคที่รับเงินฝาก 20 แห่ง สหกรณ์สินเชื่อและเงินฝากประหยัด 35 แห่ง กับสถาบันการเงินจุลภาคที่ไม่รับเงินฝากอีก 73 แห่ง แบ่งเป็นบริษัทเช่าซื้อ 28 แห่ง และโรงซวดจำ (โรงรับจำนำ) อีก 45 แห่ง.