เอเอฟพี - โวลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์มากถึง 40 คน ถูกสังหารในพม่านับตั้งแต่การรัฐประหารของกองทัพ ที่โค่นล้มอองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในปี 2564
ในรายงานถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ข้าหลวงใหญ่ได้ประณามการโจมตีโดยตรงต่อเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ที่ส่วนใหญ่ทำงานให้องค์กรท้องถิ่นท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้าน
เขากล่าวว่า การเสียชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างจงใจและมุ่งเป้าที่จะขัดขวางความช่วยเหลือและการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของประชากรจำนวนมาก
สหประชาชาติได้เตือนว่าการขัดขวางหรือปฏิเสธความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาจถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
รัฐบาลทหารได้สังหารและทำให้พลเรือนบาดเจ็บหลายพันคน ขณะเดียวกัน ก็ทำลายสินค้าและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการอยู่รอด รวมถึงอาหาร ที่พัก และศูนย์การแพทย์ ตามการรายงานของโวลเคอร์ เติร์ก
รายงานยังระบุว่า ประชาชนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศราว 1.5 ล้านคน และมีรายงานว่าสิ่งปลูกสร้างของพลเรือนราว 60,000 หลังถูกเผา หรือถูกทำลาย และมากกว่า 17.6 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ข้าหลวงใหญ่ระบุว่าพลเรือนต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจทางทหารที่ใช้กลยุทธ์การควบคุมอย่างเป็นระบบ ความกลัว และความสยดสยอง
“แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือระบุว่า จนถึงวันที่ 5 ก.ค. มีบุคคล 3,747 คน เสียชีวิตด้วยน้ำมือของทหารตั้งแต่พวกเขายึดอำนาจ และถูกจับกุมตัว 23,747 คน” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน กล่าว
ตัวเลขเหล่านี้รวมเฉพาะกรณีที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งหมายความว่ายอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มาก
ในเดือน มิ.ย. สหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรกระทรวงกลาโหมของพม่า และธนาคาร 2 แห่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ที่เปิดทางให้รัฐบาลทหารสามารถทำธุรกรรมกับตลาดต่างประเทศ เพื่อซื้ออาวุธและวัสดุอื่นๆ ได้.