xs
xsm
sm
md
lg

“อัตตะปือ” จัดแสดงการร่อนทอง โชว์ความมั่งคั่งใต้ท้องน้ำ “เซกะหมาน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตัวแทนชาวบ้านช่วยกันร่อนหาทองในลำน้ำเซกะหมาน ในเมืองไซเสดถา แขวงอัตตะปือ (ภาพจากเฟซบุ๊ก Phetthavong Pms)
MGR Online - เมืองไซเสดถา แขวงอัตตะปือ เกณฑ์ชาวบ้านครึ่งร้อยมาร่วมแสดงการร่อนทองในลำน้ำเซกะหมาน โชว์ความมั่งคั่งใต้ท้องน้ำ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองพิธีประกาศรับรองวัดเก่าแก่ 2 แห่ง ในชุมชน ได้ขึ้นทะเบียนมรดกแห่งชาติ

เช้าวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา บริเวณริมฝั่งน้ำเซกะหมาน ในเมืองไซเสดถา แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว มีการแสดงการร่อนทองในลำน้ำเซกะหมาน เป็นกิจกรรมหลักในพิธีเฉลิมฉลองการประกาศรับรองวัดหลวง เมืองเก่า และวัดทาดพะไซ ขึ้นเป็นมรดกแห่งชาติระดับท้องถิ่นของแขวงอัตตะปือ ซึ่งจัดโดยฝ่ายปกครองเมืองไซเสดถา และสมาคมเสียงแคนลาว เพื่อเป็นการย้อนรอยและสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ปลุกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาวิถีการดำรงชีวิต การทำมาหากินของผู้คนในแขวงอัตตะปือที่ดำเนินมานับแต่อดีตถึงปัจจุบัน


ตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ในแขวงอัตตะปือ 25 คู่ (หญิง-ชาย) รวม 50 คน มาร่วมแสดงการร่อนทองโชว์ในครั้งนี้ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ตัวแทนจากบ้านเซใหญ่ เมืองสามักคีไซ ตัวแทนจากบ้านวัดทาดพะไซและบ้านวัดหลวง เมืองไซเสดถา ตัวแทนจากบ้านมิดสะพัน เมืองสะหนามไซ และตัวแทนจากบ้านปะอำ เมืองซานไซ

นายพอนไซ ไกสอนเสนา รองเจ้าเมืองไซเสดถา กล่าวว่า การร่อนทองเป็นวิถีการทำมาหากินของคนในแขวงอัตตะปือ โดยเฉพาะชาวเมืองไซเสดถาที่ทำต่อเนื่องกันมาแล้วหลายชั่วคน สะท้อนถึงความมั่งมี ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติภายในแขวง โดยคนในพื้นที่จะร่อนทองเพื่อหารายได้เสริมในช่วงหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งซึ่งน้ำในแม่น้ำลำคลองต่างๆ ได้ลดระดับลง

รองเจ้าเมืองไซเสดถาให้ข้อมูลว่า การร่อนทองของชาวบ้านมักช่วยกันทำกันเป็นคู่ๆ ระหว่างสามีกับภรรยา พี่กับน้อง หรือระหว่างเพื่อนกับเพื่อน โดยแต่ละคู่จะเตรียมเสบียงอาหารของแต่ละคนไว้ให้พร้อม แล้วชวนกันพายเรือเพื่อหาจุดเหมาะสมที่คิดว่ามีแร่ทองอยู่ในท้องน้ำ จากนั้นนำอุปกรณ์มาช่วยกันร่อนหาแร่ทอง เมื่อพบก็ทำความสะอาดแล้วผึ่งให้แห้ง ก่อนรวบรวมนำไปขายหรือเก็บไว้ใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้า

สำหรับลำน้ำเซกะหมาน มีจุดเริ่มต้นอยู่บนเทือกเขาสูงในจังหวักกอนตูม ทางภาคกลางของเวียดนาม จากนั้นไหลลัดเลาะลงมาทางทิศตะวันตก จนไปบรรจบกับแม่น้ำเซกอง ในแขวงอัตตะปือของลาว.

ฝ่ายปกครองเมืองไซเสดถา และสมาคมเสียงแคนลาว ผู้จัดงาน






กำลังโหลดความคิดเห็น