xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนเขต ศก. เป็นสนามรบ "ทหารพม่า-PDF" ปะทะกันหนักที่ “ทวาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมืองนะบูเล พื้นที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ห่างจากชายแดนบ้านพุน้ำร้อน ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ประมาณ 150 กิโลเมตร ได้กลายเป็นสมรภูมิสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF)
MGR Online - เขตก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ถูกเปลี่ยนเป็นสนามรบ หลัง PDF ส่งกำลังพลเข้าเคลื่อนไหวในพื้นที่เมกะโปรเจกต์ที่มินอ่องหล่าย หมายมั่นปั้นมือจะเดินหน้าให้เสร็จ กองทัพพม่าต้องส่งทั้งทหารราบและเครื่องบินรบรุกโจมตีหนัก เพื่อไม่ให้ถูกยึด

ระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่สื่อแทบทุกแห่งในพม่า ทุ่มเทเวลาให้การรายงานข่าวพายุไซโคลน “โมคา” ที่เคลื่อนขึ้นฝั่งรัฐยะไข่ สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ ในภาคตะนาวศรี ชายฝั่งทะเลอันดามันทางใต้สุดของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ได้เกิดการสู้รบขึ้นอย่างหนักระหว่างทหารของกองทัพพม่า กับกำลังพลติดอาวุธฝ่ายต่อต้าน (PDF) ของรัฐบาลเงา (NUG) ที่จัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกพรรค NLD

พื้นที่หนึ่งซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีการปะทะกันอย่างรุนแรง ได้แก่ พื้นที่ซึ่งถูกเตรียมไว้สำหรับสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในอำเภอเหย่ผิ่ว จังหวัดทวาย และที่เมืองนะบูเล เมืองชายทะเลที่อยู่ห่างจากตัวเมืองทวาย ขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 17 ไมล์ หรือประมาณ 27 กิโลเมตร ซึ่งถูกเตรียมไว้เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย

การสู้รบเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เช้ามืด ประมาณตี 4 ของวันที่ 14 พฤษภาคม ทหารพม่านำกำลังบุกโจมตีค่าย PDF ในหมู่บ้านแวตชอง ทางตะวันออกของเมืองนะบูเล มีการยิงปะทะกันอย่างต่อเนื่องจนถึงเวลาประมาณ 8.30 น. กองทัพพม่าได้ส่งเครื่องบินรบบินมาทิ้งระเบิดสนับสนุน

การสู้รบดำเนินต่อเนื่องมาถึงวันที่ 15 พฤษภาคม พื้นที่สู้รบกระจายต่อไปทางตะวันตก เข้าไปยังหมู่บ้านมะยินจี ชายทะเลเมืองนะบูเล ในพื้นที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กองทัพพม่าต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินยิงจรวดใส่ฐานที่มั่นของ PDF ในหลายจุด

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธาน SAC เพิ่งเดินทางไปดูสถานที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึก ที่เมืองนะบูเล เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565
Dawei Watch รายงานว่า ตั้งแต่การสู้รบเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ชาวบ้านแวตชองและมะยินจี มากกว่า 15 คน ถูกทหารพม่าจับกุมตัวไปสอบสวน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดถูกปล่อยตัวกลับคืนสู่ครอบครัวในช่วงเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม โดยในวันเดียวกัน (16 พ.ค.) การสู้รบในพื้นที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายเริ่มเบาบางลง และทหารพม่าเริ่มถอนกำลังออกจากเมืองนะบูเล

Dawei Watch ไม่ได้รายงานรายละเอียดว่า การสู้รบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม 2566 ฝ่ายทหารพม่าและ PDF มีการบาดเจ็บ ล้มตายฝ่ายละกี่คน ขณะที่สำนักข่าว Than Lwin Times ซึ่งให้การสนับสนุนฝ่าย PDF รายงานว่าในการปะทะกัน 2 วัน มีทหารพม่าไม่น้อยกว่า 3 คนเสียชีวิต และฝ่าย PDF สามารถยึดอาวุธและเครื่องกระสุนของฝ่ายทหารพม่าได้เป็นจำนวนมาก

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นโครงการที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีพม่า แสดงท่าทีอย่างชัดเจนมาตลอดว่าต้องการเดินหน้าต่อให้เป็นผลสำเร็จ


เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 ก่อนการรัฐประหารเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลของพรรค NLD ได้ประกาศยกเลิกสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่เคยให้ไว้กับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) จากประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าโครงการไม่มีความคืบหน้า แม้เวลาได้ผ่านไปแล้วหลายปี และผู้ได้รับสัมปทานมีปัญหาในการจัดหาเงินทุน

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ในการประชุมคณะกรรมการ SAC ครั้งที่ 17/2021 ที่กรุงเนปีดอ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ต้องเดินหน้าก่อสร้างต่อให้เสร็จ เพราะเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เพิ่งเดินทางไปจังหวัดทวาย เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ชายหาดในเขตนะบูแล พร้อมรับฟังรายงานความคืบหน้าของโครงการจาก อู อ่องไหน่อู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอู อ่องโซ ประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

จังหวัดทวาย อยู่ในภาคตะนาวศรี ภาคใต้สุดของพม่า เป็นหนึ่งในพื้นที่รับผิดชอบของ PDF กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งเคลื่อนไหวตั้งแต่รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ลงมาจนถึงภาคตะนาวศรี พื้นที่ทั้งหมดนี้อยู่ตรงข้ามกับชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง

ในเขตพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ของ PDF มีค่ายฝึกทหารอยู่หลายแห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากครูฝึกทหารของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และอดีตครูฝึกหน่วยรบพิเศษของเหล่านาวิกโยธิน กองทัพสหรัฐอเมริกา มาช่วยฝึกการต่อสู้ให้กำลังพลของ PDF

Chindwin News Agency รายงานว่า PDF ได้เข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองปะลอ จังหวัดมะริด ไว้ได้แล้ว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2566
ก่อนหน้าการสู้รบในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเกิดขึ้นเพียง 1 วัน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา กองกำลัง PDF ประจำจังหวัดมะริด ภาคตะนาวศรี ได้ประกาศว่า สามารถเข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองปะลอ ในจังหวัดมะริด ไว้ได้แล้ว ยังคงเหลือพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ SAC อีกเพียงเล็กน้อย

ปะลอ เป็นเมืองชายทะเล ที่อยู่เหนือจากตัวเมืองมะริด และอยู่ลงมาทางใต้จากเมืองทวาย พื้นที่ทางทิศตะวันออกของปะลอ เป็นชายแดนของประเทศไทย ด้านอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี.

ที่ตั้งเมืองปะลอ


กำลังโหลดความคิดเห็น