MGR ออนไลน์ - ชาน วิเชต อาศัยและทำงานห่างจากปราสาทนครวัดเพียง 500 เมตร มาเป็นเวลานานกว่า 7 ปีแล้ว เขาวาดภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวขายให้นักท่องเที่ยว แต่ในไม่ช้า ศิลปินท้องถิ่นผู้นี้และครอบครัวอื่นๆ อีกกว่า 10,000 ชีวิต จะต้องย้ายออกจากแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก
“ตั้งแต่ผมได้ยินเรื่องแผนการย้ายที่อยู่ ผมรู้สึกมึนงงไปหมด ผมพยายามหาเลี้ยงครอบครัว แต่ผมไม่มีสมาธิหรือความคิดสร้างสรรค์อีกต่อไปแล้ว” ชาน อายุ 48 ปี กล่าว
ประชาชนเหล่านี้กำลังถูกรัฐบาลกัมพูชาขับออกจากแหล่งโบราณคดีที่มีชื่อเสียง
รัฐบาลระบุว่า การตั้งถิ่นฐานดังกล่าวขาดโครงสร้างพื้นฐานและสุขอนามัยที่จำเป็น และด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังข้อจำกัดการเดินทางจากการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะย้ายคนเหล่านี้ออกจากพื้นที่ภายใน 4 เดือนข้างหน้า
“แม้ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลกำลังทำหลายสิ่งเพื่อช่วยเหลือสำหรับการดำรงชีวิตของพวกเขา” ลอง โกศาล โฆษกขององค์การอัปสรา ที่ดูแลจัดการอุทยานโบราณคดีแห่งนี้ กล่าวกับเอเอฟพี
“พื้นที่นี้ไม่อนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานที่ไม่เป็นระเบียบและสุขอนามัยที่ย่ำแย่เช่นนี้” ลอง โกศาล กล่าว
การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสำรวจปราสาทที่หักพังของนครวัด ทำให้จำนวนคนขายอาหารและของที่ระลึกเพิ่มขึ้น ประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ในปี 2556 มีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองขนาด 400 ตารางกิโลเมตร ราว 120,000 คน เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าของจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเมื่อ 20 ปีก่อน
นครวัดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 2 ล้านคนในปี 2562 และเวลานี้กำลังเตรียมรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวเมื่อข้อจำกัดการเดินทางเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยุติลง
ในเดือน ก.ย. นายกรัฐมนตรีฮุนเซนเตือนว่าในอนาคต นครวัดจะถูกถอดออกจากสถานะแหล่งมรดกโลกหากไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นอย่างดี
รัฐบาลกล่าวว่า การเติบโตของประชากรเป็นปัญหาเพราะสร้างขยะจำนวนมากและผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใช้น้ำในปริมาณที่มากเกินไป
พวกเขาตั้งใจจะปลูกป่าในพื้นที่ที่เคยเป็นบ้านพักชั่วคราว ซึ่งหลายหลังไม่มีน้ำประปาหรือไฟฟ้าใช้
แต่ยูเนสโกกล่าวว่า แม้จะมีความวิตกกังวลเรื่องความเสี่ยงของการพัฒนาเมือง แต่ยูเนสโกก็ไม่เคยเรียกร้องให้มีการย้ายถิ่นฐานประชากร และได้แนะนำว่าการย้ายถิ่นฐานควรดำเนินการโดยได้รับความยินยอมจากประชากรที่เกี่ยวข้อง ชุมชนท้องถิ่นควรเป็นผู้ได้รับประโยชน์ของการท่องเที่ยวจากแหล่งมรดกโลกเป็นอันดับแรก
เมื่อบ้านของชานถูกรื้อถอน เขาจะต้องย้ายครอบครัวไปอยู่ที่รันตาเอก ห่างจากเส้นทางของนักท่องเที่ยวไปราว 25 กิโลเมตร เช่นเดียวกันคนอื่นๆ ชานอาจเผชิญกับการปิดกิจการและกังวลเรื่องรายได้
ชาวบ้านที่ถูกย้ายที่อยู่ได้รับที่ดินที่พวกเขาจะต้องสร้างบ้านของตัวเอง ซึ่งทางการได้ให้สัญญาว่าจะสร้างโรงเรียน คลินิก ตลาด และอาคารชุมชนอื่นๆ
“ผมไม่มีเงินพอที่จะซื้อของมาสร้างบ้านใหม่ พวกเราไม่มีอำนาจ เราจะประท้วงได้ยังไง?” เฮียว วันนาก อายุ 51 ปี ขาพิการจากกับระเบิด กล่าวขณะมองดูหลานชายเล่นอยู่ใต้ผ้าใบกันน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง
โฆษกขององค์การอัปสรากล่าวว่า “ที่นี่น่าอยู่” พวกเขายืนยันว่าหลายครอบครัวมีความสุขที่ได้ย้ายมา โดยชี้ไปที่โอกาสในการทำงานในท้องถิ่น เช่น แผนการเปิดสนามบินแห่งใหม่ในเสียมราฐ
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่คนที่ย้ายมาใหม่ไม่มีความสุข แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในรันตาเอกมาเป็นเวลานานกล่าวว่า ที่ดินที่มอบให้ครอบครัวจากนครวัดจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา
“เมื่อก่อน เราปลูกข้าวและมีรายได้มากพอสำหรับครอบครัว แต่ตอนนี้เราทำได้เพียงเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ รายได้ไม่มากพอ ผมต้องไปกู้เงินจากธนาคาร” ผู้อยู่อาศัยในรันตาเอก กล่าว.