เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชากล่าววันนี้ (14) ว่า ไม่มีโอกาสที่หนึ่งในสื่ออิสระที่เหลืออยู่ไม่มากในประเทศจะได้รับอนุญาตให้เปิดทำการอีกครั้ง หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ตอบโต้ความวิตกกังวลของรัฐบาลตะวันตกเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ
Voice of Democracy (VOD) สื่อออนไลน์ภาษาเขมรและภาษาอังกฤษ หยุดออกอากาศในวันจันทร์ (13) โดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนมีคำสั่งถอนใบอนุญาต เนื่องจากสิ่งที่เขากล่าวว่าเป็นรายงานที่ผิดพลาดเกี่ยวกับลูกชายคนโตของเขา
เมื่อช่วงดึกของวันจันทร์ (13) สหรัฐฯ ระบุว่ามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการปิดสถานีอย่างกะทันหัน และยังร่วมกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสถานทูตชาติตะวันตกอื่นๆ วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของพนมเปญ
“ชาวต่างชาติไม่มีสิทธิสั่งให้เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือทำตามความปรารถนาของพวกเขาเพราะนี่เป็นกิจการภายในของเรา” ฮุนเซนโพสต์ข้อความลงในหน้าเพจเฟซบุ๊กในบ่ายวันนี้ (14) โดยย้ำว่าสื่อรายดังกล่าวไม่มีโอกาสที่จะเปิดทำการอีกครั้ง
“การปิดสถานีวิทยุที่ผิดจรรยาบรรณไม่ได้ทำลายเสรีภาพสื่อในกัมพูชา” ฮุนเซน ระบุ และเสริมว่า เขาจะเสนองานให้นักข่าวที่ได้รับผลกระทบ
ในช่วงเช้าของวันนี้ (14) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาได้ปฏิเสธ ‘ความกังวลที่มีอคติ ลำเอียง และขับเคลื่อนด้วยการเมือง’ ของสถานทูตบางแห่ง
“การดำเนินการของฝ่ายปกครองต่อหน่วยงานที่ละเมิดกฎไม่ควรต้องกังวลแต่อย่างใด” โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศ ระบุในคำแถลง
VOD ที่ออกอากาศมาตั้งแต่ปี 2546 ได้เผยแพร่เรื่องราวเมื่อวันที่ 9 ก.พ. โดยกล่าวหาว่าพล.ท.ฮุน มาเนต บุตรชายของฮุนเซน ได้ลงนามให้ทุนช่วยเหลือตุรกีที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
ฮุน มาเนต ที่ได้รับการสนับสนุนให้สืบต่อตำแหน่งจากบิดาของเขา ได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยฮุนเซนระบุว่า เขาเป็นผู้อนุมัติแพกเกจบรรเทาทุกข์ 100,000 ดอลลาร์
ฮุนเซนเรียกร้องคำขอโทษจาก VOD แต่ปฏิเสธที่จะทบทวนการตัดสินใจของเขาอีกครั้งในการเพิกถอนใบอนุญาต แม้ว่าสำนักข่าวจะปฏิบัติตามในภายหลังก็ตาม
ฮุนเซน หนึ่งในผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในโลก ได้ปราบปรามผู้เห็นต่างมากขึ้น ขณะที่เขาเตรียมการเลือกตั้งในเดือน ก.ค. ตามการระบุของผู้สังเกตการณ์
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า การปิด VOD อาจเป็นการยุติสภาพแวดล้อมสื่อที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ
“การปิด Voice of Democracy ของฮุนเซนเป็นการบ่อนทำลายเสรีภาพสื่อในประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อสังคมกัมพูชา” โรเบิร์ตสัน กล่าว
ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยังเรียกร้องให้รัฐบาลของฮุนเซนยกเลิกการตัดสินใจที่เป็นปัญหานี้
เสรีภาพสื่อถูกโจมตีมายาวนานในกัมพูชา เช่น หนังสือพิมพ์แคมโบเดีย เดลี ที่ต้องปิดตัวลงในปี 2560 และสำนักข่าวอีกหลายแห่งปิดตัวลงก่อนการเลือกตั้งในปี 2561.