MGR Online - ลาวเปลี่ยนม้ากลางศึก “พันคำ วิพาวัน” ขอลาออกจากนายกรัฐมนตรี อ้างเหตุผลด้านสุขภาพ หลังดำรงตำแหน่ง 2 ปี ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้ามาตั้งแต่โควิด-19 ระบาด จนกลายเป็นวิกฤตการเงินที่ค่าเงินกีบตกต่ำเป็นประวัติการณ์ และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสร้างสถิติสูงสุดใหม่ทุกเดือน สภาแห่งชาติตั้ง “สอนไซ สีพันดอน” ขึ้นแทน
วันนี้ (30 ธ.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 4 สภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 โดยมีไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ เป็นประธาน และมีทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป.ลาว เข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมได้มีวาระพิเศษ โดยอนุมัติการขอพักจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันคำ วิพาวัน โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาสุขภาพ
ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบอย่างด้วยเสียงส่วนใหญ่ ให้แต่งตั้งสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ตามการเสนอของทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ
จากนั้น สอนไซ ได้ขึ้นกล่าวรับตำแหน่ง โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบสูง ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายของ สปป.ลาว
สำหรับสอนไซ เป็นลูกชายของคำไต สีพันดอน อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานประเทศ สปป.ลาว และเลขาธิการใหญ่ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว เขามีชื่อเป็นตัวว่าจะได้ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อปี 2559 แต่ที่ประชุมสภาแห่งชาติขณะนั้นได้เลือกทองลุน สีสุลิด ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
หลังจากทองลุน สีสุลิด หมดวาระลงเมื่อสิ้นปี 2563 ชื่อของสอนไซ ก็ยังเป็นตัวเต็งว่าจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากทองลุน แต่ที่ประชุมสภาแห่งชาติปัจจุบันได้เลือกพันคำ วิพาวัน เข้ารับตำแหน่ง
ปัจจุบัน คำไต สีพันดอน บิดาของสอนไซ ถือเป็นผู้อาวุโสที่ยังมีอิทธิพลต่อนโยบายและการบริหารงานประเทศลาวในหลายๆ ด้าน ในรัฐบาลที่มีพันคำ วิพาวัน เป็นนายกรัฐมนตรี มีคนนามสกุล “สีพันดอน” ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญถึง 4 คน โดยนอกจากสอนไซ ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเวียงทอง สีพันดอน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจตราแห่งรัฐ เวียงสะหวัน สีพันดอน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง และอาดสะพังทอง สีพันดอน เป็นเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์
ส่วนพันคำ วิพาวัน ก่อนเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อต้นปี 2564 เขาเป็นรองประธานสภาแห่งชาติ โดยเขาเติบโตทางการเมืองขึ้นมาจากสาย “ครู” เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด
อย่างไรก็ตาม ระหว่าง 2 ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พันคำ วิพาวัน ต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดเข้าลาวเมื่อปี 2563 ปัญหาเหล่านี้ได้สะสมจนกลายเป็นวิกฤตการเงิน ค่าเงินกีบของลาวตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ประเทศประสบกับปัญหาขาดแคลนเงินดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น จนสร้างสติติสูงสุดใหม่ทุกเดือนมาตลอดตั้งแต่เดือนมกราคม 2565.