MGR Online - ปรากฏตัวแล้ว “โจว คุน” เจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ “ยูนนาน ไห่เฉิง” เจ้าของ 3 สัมปทานใหญ่ในลาว “เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น” หลวงน้ำทา “ไชน่าทาวน์” บ่อแก้ว และ “เมืองใหม่วังเวียง” หลังชอบเก็บตัวเงียบ ไม่แสดงตัวต่อสาธารณะมานานกว่า 10 ปี
วานนี้ (27 ต.ค.) เพจสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ได้เสนอข่าวพิธีมอบเงิน จำนวน 500 ล้านกีบ เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของแขวงหลวงน้ำทา ซึ่งถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 โดยกลุ่มบริษัทยูนนาน ไห่เฉิง (Yunnan Hai Cheng Group; 云南海诚) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เจ้าของสัมปทานพัฒนาพื้นที่ 21,375 ไร่ ชายแดนลาว-จีน ในเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา สร้างเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม เมืองใหม่ริมถนนสาย R3a ห่างจากด่านชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน ประมาณ 8 กิโลเมตร
ประเด็นสำคัญของพิธีการนี้ อยู่ที่การปรากฏตัวของโจว คุน (周昆) ประธานกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ซึ่งเป็นผู้มามอบเงินจำนวนนี้แก่ คำไหล สีปะเสิด เจ้าแขวงหลวงน้ำทา ด้วยตัวเอง โดยโจว คุน ได้กล่าวในพิธีมอบเพียงสั้นๆ ว่า กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ ภายในแขวง เพื่อให้การเดินทาง การขนส่งสินค้ามีความสะดวกขึ้น
โจว คุน เป็นนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวยูนนานที่เก็บตัวเงียบมาก แม้ทุกโครงการที่กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิงลงทุนล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่เมื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวของโจว คุน พบว่าเขาแทบไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงใดๆ กับสื่อ โดยเฉพาะสื่อนอกประเทศจีน หรือแม้แต่การค้นหาภาพของเขาในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ก็ไม่ปรากฏ
ยูนนาน ไห่เฉิง เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน นักการเงินที่ทำงานอยู่ในธนาคารใหญ่ของจีนผู้หนึ่งเล่าว่า นักธุรกิจจีนในยูนนานมักเรียกโจว คุนว่า “มิสเตอร์ AEC” เนื่องจากเขาสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมักนำจุดเด่นของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ ของดินแดนนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง พัฒนา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของยูนนาน ไห่เฉิง
ปี 2554 ก่อนจะเข้ามาพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงามในลาว กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้พัฒนาโครงการ “9 จอม 12 เจียง” ขึ้นบนพื้นที่ 600 ไร่ ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหลานซาง หรือแม่น้ำโขงในเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ภายในโครงการได้จำลองเจดีย์ (จอม) ที่มีอยู่ตามสถานที่สำคัญต่างๆ สร้างพิพิธภัณฑ์สามเหลี่ยมทองคำ พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลาน ตลอดจนอาคารบ้านเรือนแบบไทลื้อ ไทย และลาว กว่า 300 หลัง รวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่เป็นจุดเด่นของเมือง (เจียง) ที่สำคัญในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และคุ้มขันโตกในบรรยากาศแบบล้านนา
โจว คุน ซึ่งขณะนั้นอายุ 35 ปี เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว S.H.A.N. (ปัจจุบันคือสำนักข่าว Shan News) ไว้เมื่อเดือนมกราคม 2554 ว่าเขาได้สร้างพิพิธภัณฑ์ “ขุนส่า” ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์สามเหลี่ยมทองคำ ในโครงการ 9 จอม 12 เจียง เพราะแม้ว่าคนส่วนใหญ่มองขุนส่าเป็นราชายาเสพติด แต่เขามองขุนส่าในฐานะนักรบเพื่อกู้เอกราชให้ชาวไทใหญ่
อย่างไรก็ตาม หลังจากการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจว คุน เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อใดๆ อีก จนถึงทุกวันนี้
ปี 2554 ปีเดียวกัน กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้ลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 49% ในโรงแรมดาราเทวี จังหวัดเชียงใหม่ และมีชื่อโจว คุน อยู่ในคณะกรรมการของโรงแรมดาราเทวีด้วย ต่อมา กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง พยายามเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อจะได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีอำนาจบริหารงานเบ็ดเสร็จ แต่ไม่สามารถตกลงกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมได้ ถึงขั้นมีการฟ้องร้องระหว่างกัน ในที่สุดกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ได้ถอนตัวออกจากโรงแรมดาราเทวี
ยูนนาน ไห่เฉิง เข้ารับสัมปทานพัฒนาพื้นที่ชายแดนลาว-จีน ในเมืองบ่อเต็นในปี 2555 ต่อจากบริษัทฟุกฮิง ทราเวล เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จากฮ่องกง ที่ถูกทางการลาวยึดสัมปทานคืนเพราะไปให้ความสำคัญกับกิจการกาสิโนมากจนเกิดเหตุอาชญากรรมขึ้น โดยเงื่อนไขหนึ่งของกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ในการรับช่วงสัมปทานคือ จะไม่มีกิจการกาสิโนอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงาม
พิธีเซ็นสัญญามอบสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงามถูกจัดขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 โดยบุนเพ็ง มูนโพไซ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และรองประธานคณะกรรมการควบคุมเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งชาติ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลลาว กับโจว คุน ประธานกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง และหลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของโจว คุน ในสื่อของลาวอีกเลย
การมาเป็นผู้มอบเงินแก่แขวงหลวงน้ำทาของโจว คุน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงเป็นการปรากฏตัวต่อสื่อหรือแสดงตัวต่อสาธารณะ ครั้งที่ 3 ของโจว คุน ในรอบ 11 ปี
นอกจากเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นแดนงามในแขวงหลวงน้ำทาแล้ว ปัจจุบัน กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง ยังได้สัมปทานพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำโขง 86.25 ไร่ ในเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 สร้างเป็นศูนย์การค้าและการท่องเที่ยวสากล (ไชน่าทาวน์) และสัมปทานพัฒนาพื้นที่ 43,750 ไร่ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซอง บริเวณบ้านห้วยสะเหง้า บ้านพูดินแดง และบ้านปากเปาะ เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ เพื่อพัฒนาเป็นเขตท่องเที่ยวทางธรรมชาติแบบยั่งยืน ภายใต้ชื่อเมืองใหม่วังเวียง อีกด้วย.