xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าเขต ศก.-ท่าเรือน้ำลึก “เจ้าก์ผิ่ว” เร่งสรุป ESIA ก่อนเริ่มสร้างปี 2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว
MGR Online - เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว โครงการยุทธศาสตร์สำคัญของจีน ในภาคตะวันตกของพม่า เริ่มทำประชาพิจารณ์ครั้งแรก กำหนดเส้นตายทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมให้เสร็จ เพื่อเสนอรัฐบาลอนุมัติก่อนเริ่มก่อสร้างกลางปีหน้า

วานนี้ (23 ก.ย.) สำนักข่าว Development Media Group ที่เน้นเสนอข่าวของรัฐยะไข่ มีรายงานว่า บริษัท Myanmar Survey Research (MSR) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึก ที่จะก่อสร้างขึ้นในจังหวัดเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ริมฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ในภาคตะวันตกของพม่า ได้เริ่มต้นกระบวนการประชาพิจารณ์เพื่อทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) ของโครงการนี้ให้เสร็จภายในกลางปี 2566

ตามกำหนดการ MSR ต้องทำ ESIA ให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2566 และเสนอต่อรัฐบาลพม่าภายในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม หลังจากรัฐบาลอนุมัติ ESIA ฉบับนี้แล้ว จึงจะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างโครงการได้

ระหว่างวันที่ 25-28 สิงหาคม 2565 MSR ได้จัดประชุมตัวแทนองค์กรที่เคลื่อนไหวด้านสังคม (CSO) และตัวแทนองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ (NGO) ที่อยู่ในพม่า ที่โรงแรม Kyauk Phyu ในตัวเมืองเจ้าก์ผิ่ว บนเกาะรานบยี ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของจังหวัดเจาก์ผิ่ว และบนเกาะมะเด ทางฝั่งตะวันออกของเกาะรานบยี พื้นที่คั่นกลางระหว่างเกาะรานบยีกับแผ่นดินใหญ่รัฐยะไข่

ถือเป็นการทำประชาพิจารณ์ครั้งแรกเพื่ออธิบายรายละเอียดเนื้อหาที่ถูกเขียนไว้ใน ESIA ให้ตัวแทนองค์กรเหล่านี้ได้รับทราบและเสนอความคิดเห็น

โดยกระบวนการจัดทำ ESIA เพื่อเสนอต่อรัฐบาลนั้น เจ้าหน้าที่ของ MSR ได้ลงภาคสนามเก็บข้อมูลจากชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ซึ่งครอบคลุมบ้านเรือนประชาชน 2,300 หลัง ใน 16 หมู่บ้าน และจากชุมชนนอกพื้นที่ซึ่งอยู่โดยรอบโครงการอีก 50 หมู่บ้าน


พื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว มีทั้งที่อยู่บนเกาะรานบยี และเกาะมะเด โดยบนเกาะรานบยี ซึ่งมีท่อแก๊สและน้ำมันของจีนพาดผ่าน จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งหนึ่งบริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ และจะสร้างท่าเรืออีกแห่งหนึ่งบนเกาะมะเด บริเวณชายหาดทางตอนเหนือของเกาะ โดยทั้ง 2 ท่าเรือจะมีการตัดถนนและสร้างสะพานความยาวรวม 15 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมซึ่งกันและกัน

รัฐบาลพม่าได้อนุมัติสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ CITIC Consortium Myanmar Port Investment(CITIC Consortium) เมื่อปี 2558

CITIC Consortium เป็นกิจการร่วมทุนของ 6 บริษัท ประกอบด้วย CITIC Group บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลจีน หรือชื่อเดิมคือ China International Trust Investment Corporation, China Harbour Engineering, China Merchants Holding (International), TEDA Investment Holding, Yunnan Construction Engineering Group (YNJG) และกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์จากประเทศไทย

ขอบเขตที่ตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว
ปี 2563 CITIC Consortium ได้ร่วมทุนกับคณะกรรมการ Kyaukphyu Special Economic Zone Management Committee (KPSEZ) ที่เป็นตัวแทนนามรัฐบาลพม่า ในสัดส่วน 85 : 15 จัดตั้งบริษัท Kyaukphyu Special Economic Zone Deep Seaport ขึ้นเป็นบริษัทผู้ดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกที่เมืองเจ้าก์ผิ่ว และ Kyaukphyu Special Economic Zone Deep Seaport ได้ว่าจ้าง Myanmar Survey Research (MSR) เป็นบริษัทที่ปรึกษาและจัดทำ ESIA เสนอต่อรัฐบาลพม่า

หากรัฐบาลพม่าอนุมัติ ESIA และเริ่มต้นการก่อสร้าง เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว จะเป็นโครงการเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ตามข้อริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) โดยจะเป็นปลายทางของระเบียนเศรษฐกิจจีน-พม่า ซึ่งมีโครงข่ายเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนนและรถไฟที่เชื่อมจากรัฐยะไข่ ผ่านพม่า ขึ้นไปถึงนครฉงชิ่ง และมณฑลเสฉวน และเป็นเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน.

แนวท่อแก๊สและน้ำมันของจีนบนเกาะรานบยี เจ้าก์ผิ่ว ซึ่งผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึก

การทำประชาพิจารณ์โครงการ ซึ่งจัดโดย MSR


กำลังโหลดความคิดเห็น