รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ต้องการให้ผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เล่นบทบาทที่มีส่วนร่วมที่ลึกซึ้งมากขึ้นในความพยายามที่จะนำพม่ากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าววานนี้ (11) ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพบหารือกับผู้นำจากภูมิภาค
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้งดเว้นการเชิญผู้นำจากรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่มจนกว่าจะได้เห็นความคืบหน้าในฉันทมติ 5 ข้อ ที่ตกลงกันไว้เมื่อปีที่แล้ว ในความหวังว่าจะยุติความรุนแรงที่ปะทุขึ้นนับตั้งแต่นายพลยึดอำนาจ และควบคุมตัวผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ซึ่งรวมทั้งอองซานซูจี
เคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานกิจการอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ได้กล่าวที่สถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐฯ ว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนจะส่งเสริมการทูตเกี่ยวกับพม่ามากยิ่งขึ้นในการประชุมกับผู้นำอาเซียนในวอชิงตันในวันพฤหัสฯ และวันศุกร์
“เราหวังและคาดหวังให้อาเซียนดำเนินการตามแผนการอย่างแท้จริงในแง่ของการมีส่วนร่วมทั้งกับรัฐบาลปัจจุบันและฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับหนทางข้างหน้า” แคมป์เบลล์ กล่าว
แคมป์เบลล์ กล่าวว่า กลุ่มภูมิภาค 10 ชาติได้เริ่มดำเนินการแผนการสำคัญเกี่ยวกับวิกฤต ที่รวมถึงการแต่งตั้งทูตเพื่อส่งข้อความถึงนายพล แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เป็นผล
“สหรัฐฯ จะยังคงมีบทบาทในการทำงานกับพันธมิตรต่างๆ แต่เราต้องการให้อาเซียนมีบทบาทที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในการทูตเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปในพม่า” แคมป์เบลล์ กล่าวย้ำ
การรัฐประหารเดือน ก.พ.2564 ในพม่าก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ ที่ถูกทหารปราบปรามอย่างรุนแรง และทำให้บางคนหันมาจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหาร
การนองเลือดนำมาซึ่งการกระทำที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนโดยอาเซียน ที่ปกติแล้วขัดต่อนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของประเทศสมาชิกของกลุ่ม ด้วยการงดเว้นการเชิญ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร และเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่นๆ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม
วอชิงตันกล่าวว่า สหรัฐฯ จะปฏิบัติตามแนวทางของอาเซียนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพม่าในการประชุม โดยเชิญเพียงตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองจากประเทศเท่านั้น.