เอเอฟพี - กองกำลังต่อต้านการรัฐประหารของพม่าขู่ว่าจะโจมตีเหมืองแร่ที่จีนให้การสนับสนุนซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ หากโครงการเหล่านั้นยังไม่ปิดตัวลง โดยระบุว่าผลกำไรจากเหมืองเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของรัฐบาลทหาร
เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ.2564 และหลายประเทศได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพพม่า
กลุ่มติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่ากองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ก่อตัวขึ้นหลังการรัฐประหารเพื่อต่อต้านการปกครองของทหาร โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารตกเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่ม
บริษัทวานเป่า (Wanbao Mining) ของจีน ได้ดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัท Myanma Economic Holdings ที่เป็นกลุ่มบริษัทของกองทัพพม่า เพื่อดำเนินการเหมืองทองแดงเลตปะด่อง (Letpadaung) และเหมืองทองแดง Sapetaung-Kyesintaung ใกล้เมืองซาลิงจี ในภูมิภาคสะกาย
แต่การดำเนินการที่เหมืองเหล่านี้ได้หยุดชะงักลงเพราะการสู้รบ ปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน และการระบาดของโควิด-19
กองกำลังติดอาวุธ 16 กลุ่มได้ออกคำแถลงร่วมระบุว่า รายได้จากเหมืองแร่เข้ากระเป๋าของเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงและพวกพ้อง
“เราจะรอดูว่าพวกเขาจะดำเนินการโครงการของพวกเขาอีกหรือไม่ หากพวกเขาดำเนินการต่อ เราจะโจมตี” โฆษกของกองกำลัง PDF ในท้องถิ่น กล่าวกับเอเอฟพี
โฆษก PDF กล่าวว่า กองทัพได้ส่งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเข้ามาในพื้นที่ และบริษัท Wanbao ได้ว่าจ้างแรงงาน ที่มีรายงานระบุว่ามีคนงานเข้ามาราว 300 คน
กลุ่มติดอาวุธกล่าวว่า เหมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนเหล่านี้ไม่ให้ประโยชน์กับคนท้องถิ่นแม้จะเปิดดำเนินการมาหลายปีแล้วก็ตาม
โฆษก PDF ยังเรียกร้องให้คนงานเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนต่อต้านโครงการเหมืองและผละงานประท้วง
“เราขอให้คนที่ทำงานให้กับธุรกิจต่างๆ ออกจากงานภายในวันที่ 5 พ.ค.” คำแถลงร่วม ระบุ
กองกำลังติดอาวุธกล่าวว่าพวกเขาจะไม่รับผิดชอบหากคนงานที่ไม่ร่วมการผละงานติดอยู่ในการโจมตีเหมือง
เมื่อเดือน ก.พ. มีรายงานเหตุการณ์การโจมตีด้วยจรวดที่เหมืองเลตปะด่องโดยฝ่ายกองกำลังต่อต้านการรัฐประหาร โดยเหมืองแห่งนี้มักถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการยึดที่ดิน ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม และการปราบปรามของตำรวจอย่างโหดร้ายต่อผู้ชุมนุมประท้วง
การชุมนุมประท้วงต่อต้านเหมืองได้จุดชนวนความรู้สึกต่อต้านจีนในนครย่างกุ้ง รวมถึงเมืองอื่นๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
และในเดือน ม.ค. สื่อท้องถิ่นรายงานว่ากลุ่มติดอาวุธได้ระเบิดเสาไฟฟ้า 3 เสา ที่จ่ายไฟให้เหมืองนิกเกิล Tagaung Taung ในสะกาย ที่ทำให้เกิดปัญหาในการผลิต
กลุ่มพันธมิตรนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์เพื่อความโปร่งใสในภาคทรัพยากรประเมินว่ากองทัพพม่ามีรายได้ 725 ล้านดอลลาร์จากเหมือง 3 แห่งในภูมิภาคสะกาย ในช่วงปีงบประมาณ 2563-2564
“การติดต่อทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องของจีนกับกองทัพพม่ากำลังบ่อนทำลายกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตย ที่เสี่ยงจุดชนวนความรู้สึกต่อต้านจีนในหมู่ประชาชนชาวพม่า” กลุ่มพันธมิตรนักเคลื่อนไหว Publish What You Pay Australia ระบุในรายงานในเดือน พ.ย.
ทั้งนี้ บริษัทวานเป่า และสถานทูตจีนในพม่าไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็นจากเอเอฟพี.