รอยเตอร์ - กระทรวงพลังงานของพม่าออกถ้อยแถลงปฏิเสธว่าประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันเบนซินและดีเซล แม้จะมีภาพบรรดาผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะเข้าแถวยาวเหยียดรอเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมันในบางเมืองก็ตาม
กระทรวงพลังงานที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพระบุในคำแถลงที่ออกทางสื่อของทางการว่า สต๊อกน้ำมันของประเทศมีน้ำมันเบนซินอยู่ 45 ล้านแกลลอน และดีเซล 70 ล้านแกลลอน ขณะที่การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทั้ง 2 ชนิดก็เทียบท่าอยู่ที่ท่าเรือ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวอุตสาหกรรมน้ำมันในพม่ากล่าวว่า กฎเกณฑ์ใหม่ที่ธนาคารกลางกำหนดขึ้นในเดือนนี้ ที่บังคับให้ผู้คนต้องแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินจ๊าตส่งผลกระทบต่อการนำเข้า
เมื่อวันอังคาร (19) ภาพถ่ายที่ปรากฏตามสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นรถยนต์ต่อแถวยาวเหยียดรอเติมน้ำมันในหลายเมือง
“ผมเห็นรถราว 300 คัน เข้าแถวที่ปั๊มน้ำมัน” ซอ คนขับแท็กซี่ในนครย่างกุ้งที่ปฏิเสธจะให้ชื่อเต็ม กล่าว
การขาดแคลนน้ำมันจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำหรับประชาชนในพม่าที่เศรษฐกิจตกต่ำตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา และดำเนินการปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างนองเลือด
เมื่อเดือนที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของพม่ายังเผชิญกับปัญหาไฟฟ้าดับที่เลวร้ายลงเนื่องจากก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในธุรกิจน้ำมันต้นน้ำของพม่าเผยกับรอยเตอร์ว่า มีการปันส่วนน้ำมันเกิดขึ้นเนื่องจากน้ำมันเหลือน้อย ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
“เรากำลังพยายามอย่างหนักที่จะซื้อน้ำมันเพิ่มเนื่องจากมีปัญหามากมายในการชำระเงินเพราะข้อจำกัดใหม่” เจ้าหน้าที่ที่ปฏิเสธจะระบุตัวตน กล่าว
คำแถลงร่วมจากหอการค้าต่างประเทศที่ออกเมื่อวันที่ 8 เม.ย. เตือนว่า กฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับสกุลเงินหมายความว่าอาจมีความท้าทายที่ไม่อาจเอาชนะได้สำหรับบางธุรกิจที่ดำเนินการในพม่า
นอกจากนี้ ในจดหมายของสถานทูตญี่ปุ่นถึงธนาคารกลางระบุว่า บริษัทญี่ปุ่นจะเผชิญกับความท้าทายร้ายแรงจากกฎระเบียบดังกล่าว
แหล่งข่าวอุตสาหกรรมน้ำมันอีกรายในพม่ายังกล่าวว่า ผู้นำเข้าไม่สามารถนำเงินดอลลาร์สหรัฐไปจ่ายให้ซัปพลายเออร์ได้
ปั๊มน้ำมันบางแห่งจำกัดการขาย และบางแห่งขาดทุนจากการขายน้ำมันเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการของธนาคารกลางปัจจุบันอยู่ที่ 1,850 จ๊าตต่อดอลลาร์ ซึ่งอัตราดังกล่าวมีแนวโน้มว่าต่ำกว่าอัตราในตลาดมืดอย่างมาก.