MGR Online - ป่าไม้แขวงสะหวันนะเขต ปล่อยลูกจระเข้ 47 ตัวคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ชี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่สูญพันธุ์แล้วในหลายประเทศ ต้องอนุรักษ์ไว้ ชาวบ้านไม่ไว้ใจ กลัวว่าเมื่อโตขึ้นจะกลับมากินคน
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม แผนกกสิกรรมและป่าไม้ แขวงสะหวันนะเขต ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society : WCS) ได้ปล่อยลูกจระเข้ จำนวน 47 ตัว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในเขตสงวนของบ้านตานสุม เมืองจำพอน ตามโครงการอนุรักษ์ชีวะนานาพันธุ์ที่สำคัญในบริเวณแหล่งน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชน
ซูซาด ไซยะกุมมาน หัวหน้ากรมป่าไม้ กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ กล่าวว่า ลูกจระเข้ที่นำมาปล่อยเป็นพันธุ์พื้นเมืองของลาวที่โครงการได้เลี้ยงดูไว้เป็นเวลา 2 ปี จนเห็นว่าเติบโตและแข็งแรงพอแล้ว จึงได้นำจระเข้เหล่านี้มาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้เป็นทรัพย์สมบัติของประเทศลาวที่ต้องรักษาไว้
หัวหน้ากรมป่าไม้กล่าวว่า ที่ผ่านมา ความหลากหลายทางธรรมชาติในลาวได้รับผลกระทบจากพื้นที่ป่าที่ลดลง ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลาย แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึงต่างๆ ตลอดจนผืนดินตามแหล่งน้ำเสื่อมโทรม เพราะจำนวนคนมีมากขึ้น ความต้องการพื้นที่ทำกินและการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
โครงการอนุรักษ์ชีวะนานาพันธุ์ที่สำคัญในบริเวณแหล่งน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลลาวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีพื้นที่เป้าหมายใน 14 บ้าน ของ 4 เมือง ในแขวงสะหวันนะเขต คือ เมืองจำพอน เมืองไซบูลี เมืองซนบูลี และเมืองสองคอน มีแผนกกสิกรรมและป่าไม้ แขวงสะหวันนะเขต กับ WCS เป็นเจ้าภาพร่วม กำหนดระยะเวลาปฏิบัติงาน 5 ปี ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) และมูลนิธิ Margaret A.Cargill Philanthropies (MACP) เป็นเงิน 1,213,26 ดอลลาร์สหรัฐ
จากการสำรวจเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน พบว่าบริเวณลำน้ำจำพอน มีประชากรจระเข้อยู่ประมาณ 100 ตัว ในปี 2542 WCS ร่วมกับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น แขวงสะหวันนะเขต ได้ร่วมกันสำรวจหาแหล่งที่อยู่ของจระเข้พันธุ์พื้นเมือง ได้พบรังและไข่ของจระเข้ที่กุดหมากแผ้ว กับกุดผีน้อย ในเขตบ้านตานสุม เมืองจำพอน
วานนี้ (31 มี.ค.) “โทละโข่ง” เพจข่าวออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของลาว มีรายงานว่า หลังปรากฏข่าวการปล่อยลูกจระเข้ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในเมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขต ได้สร้างความวิตกกังวลแก่ชาวลาวจำนวนมาก โดยทุกคนต่างกลัวว่าเมื่อจระเข้เหล่านี้เติบโตขึ้นแล้วจะเป็นอันตราย กลับมาทำร้ายผู้คน
ซึ่งเรื่องนี้ ซูซาด ไซยะกุมมาน หัวหน้ากรมป่าไม้ อธิบายว่า จระเข้พันธุ์พื้นเมืองลาวที่ถูกปล่อยลงสู่ธรรมชาติครั้งนี้ เป็นจระเข้น้ำจืดที่ไม่เป็นอันตราย เพราะส่วนใหญ่กินปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร และเมื่อโตเต็มที่แล้ว มีขนาดไม่ใหญ่มาก
เขาบอกว่าจระเข้พันธุ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้วในหลายประเทศ แต่ยังมีอยู่ในลาวและกัมพูชา โดยในลาวพบมากใน 4 เมืองของแขวงสะหวันนะเขต ที่เป็นเป้าหมายของโครงการอนุรักษ์ชีวะนานาพันธุ์ที่สำคัญในบริเวณแหล่งน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ต่างรู้จักจระเข้ชนิดนี้ดีและช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้นานแล้ว และการปล่อยลูกจระเข้คืนสู่ธรรมชาติครั้งนี้เป็นการปล่อยครั้งที่ 2.