xs
xsm
sm
md
lg

ส่งมอบ "โบราณวัตถุอายุ 3 พันปี" ล้านช้างมิเนอรัลขุดพบจาก "บ่อคำเซโปน" ให้ รบ.ลาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การขุดค้นเมื่อปี 2561 พบโบราณวัตถุจำนวนมากและหลักฐานที่ระบุว่าในเมืองวีละบูลี มีการทำเหมืองทองคำมานานแล้วกว่า 3,000 ปี
MGR Online - “ล้านช้างมิเนอรัล” ส่งมอบโบราณวัตถุล็อตใหม่ที่พบในเหมืองทองคำเซโปน ให้เป็นสมบัติของรัฐบาลลาว หลังตลอด 4 ปี ขุดเจอมาแล้วหลายรอบ นักโบราณคดีพบหลักฐานเมืองวีละบูลี เป็นแหล่งทองคำโบราณอายุกว่า 3,000 ปี และยังเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ตั้งแต่ยุคหินใหม่

เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ที่เมืองวีละบูลี แขวงสะหวันนะเขต ได้มีพิธีส่งมอบโบราณวัตถุอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกค้นพบในพื้นที่เหมืองทองคำเซโปน ของบริษัทล้านช้าง มิเนอรัล (LXML) ให้ตกเป็นทรัพย์สมบัติของรัฐบาลลาว โดยมีสวนสะหวัน วิยะเกด รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว เป็นผู้รับมอบ โดยโบราณวัตถุที่ส่งมอบเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้ถูกขุดพบอย่างต่อเนื่องมาตลอด 4 ปี ภายในพื้นที่เหมืองทองคำที่เมืองวีละบูลี ของ LXML

LXML ได้รับสัมปทานทำเหมืองทองคำบนพื้นที่ 1,250 ตารางกิโลเมตร ในเมืองเซโปนและวีละบูลี ตั้งแต่ปี 2536 โดยช่วงแรก LXML มี Oxiana จากออสเตรเลียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และรัฐบาลลาวร่วมถือหุ้นด้วย 10%

อย่างไรก็ตาม LXML มีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นมาแล้ว 2 รอบ รายล่าสุด คือ Chifeng Jilong Gold Mining ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฉีเฟิ่ง เขตปกครองตนเองมองโกเลีย เข้ามาถือหุ้นใหญ่เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 โดย สัมปทานเดิมของ LXML หมดอายุลงไปเมื่อปลายปี 2563 แต่รัฐบาลลาวได้ขยายสัมปทานและขยายพื้นที่ขุดค้นให้ LXML ไปถึงสิ้นปี 2571 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563


เดือนมีนาคม 2561 ทีมสำรวจโบราณคดี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง LXML กรมมรดก กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และมหาวิทยาลัยเจมส์คุก จากออสเตรเลีย ได้ค้นพบหลักฐานที่ระบุว่า เมืองวิละบูลี และเมืองเซโปน เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ และเป็นแหล่งเหมืองแร่ทองคำที่เก่าแก่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ร่องรอยและหลักฐานที่พบยืนยันว่าบริเวณนี้เคยมีการสำรวจ ขุดค้น และทำเหมืองแร่ทองคำมานานตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีก่อน มีการเสนอให้สถาปนาพื้นที่บริเวณนี้เป็นเขตมรดกวัฒนธรรมของแขวงสะหวันนะเขต

การสำรวจในครั้งนั้นได้ค้นพบไหเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบสำหรับใช้ในพิธีการฝังศพของคนในช่วงท้ายของยุคสำริด ต่อเนื่องถึงช่วงต้นของยุคเหล็ก ในไหบรรจุไว้ด้วยขวานเหล็ก ปลอกแขนที่ทำด้วยเงิน และลูกปัดที่ทำจากเปลือกหอยและก้างปลา

มีการค้นพบโบราณวัตถุหลายชิ้นที่สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 12-13 และเครื่องมือที่ทันสมัยกว่าอีกหลายชิ้นที่คาดว่าอยู่ในสมัยอาณาจักรล้านช้าง ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-19

ทีมสำรวจพบร่องรอยว่าประมาณกว่า 1,300 ปีมาแล้ว หรือก่อนปี ค.ศ.700 ในเมืองวิละบูลี มีการทำเหมืองทองคำอย่างเป็นระบบแล้ว โดยพบหลุมเหมืองทองคำโบราณในบริเวณที่เรียกกันว่า “เปิ้นเบ้าหล่อ” และ “ทุ่งนางเงือก” ทองคำที่ขุดขึ้นมาได้ถูกนำไปใช้เป็นสื่อกลางสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าภายในสังคมหรือระหว่างชุมชนของคนยุคนั้น

ร่องรอยของหลุมเหมืองที่พบ ทำให้รู้ว่าวิธีทำเหมืองในยุคนั้น โดยใช้วิธีการเจาะหลุมลึกลงไปในดินตั้งแต่ 10-40 เมตร จากนั้นหาอุปกรณ์มาค้ำยันป้องกันไม่ให้ดินบริเวณขอบหลุมและปากหลุมพังทลายลงไป จนเป็นอันตรายต่อคนที่ไต่ลงไปในก้นหลุม

การสำรวจพบว่า ในเมืองวิละบูลีมีหลุมขุดค้นทองคำมากกว่า 100 หลุม แต่ละหลุมต้องใช้คนงานไม่ต่ำกว่า 3 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไต่ลงไปค้นหาแร่ทองคำ

บริเวณปากหลุม และก้นหลุมพบอุปกรณ์การทำเหมือง เช่น บันไดไม้ ลูกลอก ไม้ค้ำ ตะกร้าไม้ไผ่ เชือกหวาย ถูกอัดแน่นตามสภาพธรรมชาติอยู่ในชั้นดินเหนียวส่วนลึกลงไปจากผิวดิน เมื่อนำฝาตะกร้าไม้ไผ่ที่พบไปตรวจสอบหาอายุด้วยวิธีการ Carbon Dating ทำให้ทราบว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีอายุมากกว่า 1,300 ปี


นอกจากนี้ ยังพบโบราณวัตถุอื่นที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ เช่น กลองดงเซิน ซึ่งเป็นกลองมโหระทึกโบราณที่ทำมาจากสำริด เครื่องปั้นดินเผา กระดิ่งทองสำริด เครื่องประดับ และเครื่องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ

24 กันยายน 2562 LXML ส่งมอบโบราณวัตถุจำนวน 7,881 รายการ ที่พบในเหมืองทองคำเซโปน ประกอบด้วย เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับซึ่งทำจากหิน แก้วเจียระไน ข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก ทองแดง ทองเหลือง ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 2,500-3,000 ปี ให้แก่รัฐบาลลาว

พิธีส่งมอบถูกจัดขึ้นที่โรงแรมคราว พลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์ โดยสะหนาน อะเนกา ผู้อำนวยการใหญ่ LXML เป็นผู้ส่งมอบ วันเพง แก้วปันยา ผู้อำนวยการ หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ มาลาทิเวด อำมะลาทิทาดา ผู้อำนวยการ หอพิพิธภัณฑ์แขวงสะหวันนะเขต และตุ้ยทอง แก้ววงสา หัวหน้าสำนักงานแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว เมืองวีละบูลี เป็นผู้รับมอบ

โบราณวัตถุทั้งหมดถูกแบ่งไปจัดแสดงไว้ที่หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ นครหลวงเวียงจันทน์ 828 รายการ ที่หอพิพิธภัณฑ์แขวงสะหวันนะเขต 409 รายการ และที่หอวัฒนธรรมเมืองวีละบูลี 6,644 รายการ


ระหว่างวันที่ 9-25 มกราคม 2564 ได้พบแหล่งอารยธรรมโบราณเพิ่มเติมบริเวณบ้านน้ำปาเคน เมืองวิละบูลี เชื่อว่าอยู่ในยุคหินใหม่ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการใช้เครื่องมือหินในยุคหิน มีความเก่าแก่ประมาณ 4,500 ปี ก่อนคริสตกาล หรือประมาณกว่า 6,000 ปีก่อน จากการขุดค้น พบว่า บริเวณนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหิน เช่น ขวานหินขัด

หลักฐานที่พบ บอกว่า ในพื้นที่ซึ่งเป็นเมืองวีละบูลีปัจจุบันว่าได้มีการพัฒนา คิดค้นเทคโนโลยี่สำหรับสร้างอุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือที่เหมาะกับสภาพการผลิต เป็นช่วงก้าวเข้าสู่ยุคกสิกรรม มีการเรียนรู้การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ก่อนก้าวสู่ยุคโลหะ ที่ตามมาด้วยการค้นพบและรู้จักนำแร่ธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติมาแปรรูปสำหรับใช้งาน โดยนำสินแร่โลหะที่ขุดพบมาถลุงผลิตเป็นเครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีความแข็งแกร่ง ทนทาน เที่ยงตรง และทันสมัย

รวมทั้งเป็นยุคที่เริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการติดต่อสัมพันธ์ แลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้าระหว่างกันของชุมชน ทั้งที่อยู่ใกล้เคียงกัน ชุมชนห่างไกล รวมถึงชุมชนจากต่างชาติแล้ว

ต้นเดือนกรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ของ LXML ได้ขุดพบวัตถุโบราณจำนวนหนึ่งภายในบริเวณเหมืองทองคำเซโปน วัตถุโบราณที่พบคาดว่ามีอายุประมาณ 2,000 ปี ประกอบด้วย ขวานเหล็กและไหเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบสำหรับใช้ในพิธีการฝังศพของคนในช่วงท้ายของยุคสำริด ต่อเนื่องถึงช่วงต้นของยุคเหล็ก.







พิธีส่งมอบโบราณวัตถุล๊อตล่าสุดที่พบในเหมืองทองคำชุดล่าสุดให้แก่รัฐบาลลาว

พิธีส่งมอบโบราณวัตถุล็อตล่าสุดที่พบในเหมืองทองคำชุดล่าสุดให้แก่รัฐบาลลาว


กำลังโหลดความคิดเห็น