MGR ออนไลน์ - รัฐบาลทหารพม่ากำลังวางแผนที่จะออกกฎหมายห้ามการใช้งานเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) ภายใต้กฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เสนอใหม่ ความเคลื่อนไหวที่จะลดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและจำกัดเงินทุนที่จะส่งไปให้กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย
ร่างกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฉบับแก้ไขที่รัฐบาลทหารเสนอครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.2564 แต่ถูกยกเลิกในเวลาต่อมา กำหนดโทษจำคุก 1-3 ปี สำหรับการใช้งาน VPN เทคโนโลยีที่ช่วยให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว
กฎหมายที่ถูกเสนอขึ้นใหม่นี้ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน ประกอบด้วยชื่อ ที่อยู่ และประวัติการเข้าถึง เมื่อได้รับการร้องขอจากทางการ
หลังเข้ายึดอำนาจในเดือน ก.พ. รัฐบาลทหารได้สั่งห้ามการใช้งานเฟซบุ๊ก ที่เป็นหนึ่งในวิธีสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดประเทศ แต่ในปัจจุบัน ประชาชนยังคงสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวได้ผ่านการใช้งาน VPN
“นี่เป็นเพียงการต่อสู้ที่เปล่าประโยชน์ครั้งล่าสุดระหว่างรัฐบาลและเฟซบุ๊ก” นักวิเคราะห์ธุรกิจในย่างกุ้งที่คุ้นเคยกับร่างกฎหมายกล่าว และเสริมว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะทำให้การใช้เฟซบุ๊กเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
การปราบปรามของรัฐบาลทหารมีขึ้นเพื่อขัดขวางประชาชนจากการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยที่ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้รับการเลือกตั้งและถูกขับไล่ โดย NUG เริ่มรณรงค์ระดมทุนออนไลน์ในรูปของลอตเตอรี่เมื่อเดือน ส.ค. และกล่าวว่าสามารถขายได้หมดภายในเวลา 1 ชั่วโมง โดยสามารถระดมเงินได้มากกว่า 60,000 ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม นักเคลื่อนไหวและผู้บริหารในอุตสาหกรรมกล่าวเตือนว่า หากร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ รัฐบาลทหารพม่าก็เสี่ยงที่จะทำลายพื้นที่ออนไลน์สาธารณะของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ
หลายบริษัทมีความวิตกกังวลว่ากฎหมายใหม่จะขัดขวางการดำเนินงาน ด้วยผู้ให้บริการเครือข่าย สถาบันการเงิน และบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งพึ่งพาการเชื่อมต่อ VPN ในการดำเนินงาน ตามการระบุของผู้บริหารกิจการโทรคมนาคมในย่างกุ้ง
“คำสั่งห้ามที่ครอบคลุมเป็นวงกว้างจะสร้างความยุ่งยากและส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น บริษัทต่างๆ จะต้องพยายามดิ้นรนที่จะปฏิบัติตามและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านไอที และไม่เพียงกระทบแต่บริษัทต่างๆ เท่านั้น ในส่วนผู้บริโภคยังคงต้องใช้ VPN ในหลากหลายเหตุผล ตั้งแต่เข้าถึงบริการทางธุรกิจไปจนถึงเข้าถึงข่าวสารและสื่อสังคมออนไลน์” ผู้บริหารรายหนึ่ง กล่าว.