เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาจะเดินทางเยือนพม่าเพื่อเจรจาหารือกับรัฐบาลทหารในเดือนมกราคม โฆษกของผู้นำเขมรระบุวันนี้ (7) ที่จะทำให้ฮุนเซนกลายเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่เยือนพม่านับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในการทำรัฐประหาร
พม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายและเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นอัมพาตนับตั้งแต่ทหารขับไล่รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.
ฮุนเซน ที่ปกครองกัมพูชาด้วยกฎเหล็กมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ได้ให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารพม่า แม้จะมีความพยายามระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางในการเพิ่มแรงกดดันทางการทูตต่อกองทัพก็ตาม
วันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าได้พบหารือกับฮุนเซนที่กรุงพนมเปญในวันนี้ (7) ซึ่งเขาได้ส่งคำเชิญอย่างเป็นทางการให้ผู้นำเขมร
เอียง สุพัลเลธ โฆษกของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวว่า การเยือนพม่ามีกำหนดในวันที่ 7-8 ม.ค.
ทั้งนี้ คำเชิญดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่กัมพูชาพยายามจะนำพม่ากลับคืนสู่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หลังถูกกลุ่มปฏิเสธ
ในความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับกลุ่มระดับภูมิภาคที่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไร้เขี้ยวเล็บ อาเซียนได้กีดกัน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารจากการประชุมสุดยอดผู้นำระดับภูมิภาคในเดือน ต.ค. หลังจากรัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะให้ทูตของอาเซียนพบหารือกับซูจี
กัมพูชาจะดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนอาเซียนในปีหน้า และเมื่อวันจันทร์ (6) ฮุนเซนกล่าวว่า ผู้นำพม่ามีสิทธิที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดดังกล่าว
รัฐบาลทหาร ที่เรียกตัวเองว่าสภาบริหารแห่งรัฐ ถูกโดดเดี่ยวจากนานาประเทศในปีนี้ ด้วยมีประชาชนถูกสังหารมากกว่า 1,300 คน และถูกจับกุมตัวอีกหลายพันคนจากการปราบปรามอย่างโหดร้ายของกองกำลังความมั่นคงต่อผู้เห็นต่าง ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น และเมื่อวันจันทร์ ซูจีถูกตัดสินจำคุก 2 ปี จากความผิดในข้อหายุยงปลุกปั่นและละเมิดกฎระเบียบด้านโควิด-19 ที่เรียกเสียงประณามครั้งใหม่จากทั่วโลก
แต่แรงกดดันทางการทูตไม่ได้แสดงสัญญาณว่าจะทำให้รัฐบาลทหารเปลี่ยนท่าที
รัฐบาลทหารให้เหตุผลของการรัฐประหารด้วยข้อกล่าวหาว่ามีการโกงในการเลือกตั้งปีก่อน และซูจีเผชิญกับข้อหามากมายที่อาจทำให้เธอติดคุกหลายสิบปีหากถูกตัดสินว่ามีความผิดในทุกข้อหา.