xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสหรัฐฯ สั่งเฟซบุ๊กเปิดเผยบันทึกเนื้อหาต่อต้านโรฮิงญาสำหรับคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้สั่งให้เฟซบุ๊กเผยแพร่บันทึกของบัญชีที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อต้านโรฮิงญาในพม่า ที่สื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ได้ปิดไป

ผู้พิพากษาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้วิพากษ์วิจารณ์เฟซบุ๊กถึงความล้มเหลวที่จะส่งมอบข้อมูลให้ผู้สอบสวนที่พยายามจะดำเนินคดีกับพม่าในข้อหาก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา

เฟซบุ๊กปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว โดยกล่าวว่า จะเป็นการละเมิดกฎหมายสหรัฐฯ ที่ห้ามบริการการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์เปิดเผยข้อมูลการสื่อสารของผู้ใช้

แต่ผู้พิพากษากล่าวว่า โพสต์ต่างๆ ที่ถูกลบไปแล้ว จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว และการไม่แบ่งปันเนื้อหาจะยิ่งเพิ่มโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญา

“การที่เฟซบุ๊กอ้างเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นเรื่องตลกร้าย เว็บไซต์ข่าวยกพื้นที่ให้แก่ประวัติที่เลวร้ายของเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวเรื่องความเป็นส่วนตัว” ผู้พิพากษาระบุ

ด้านโฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณาทบทวนคำตัดสินดังกล่าว และระบุว่า บริษัทได้เปิดเผยข้อมูลด้วยความสมัครใจและถูกต้องตามกฎหมายให้กลไกสืบสวนอิสระว่าด้วยพม่า ที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติไปแล้ว

ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ของพม่าในเดือน ส.ค.2560 หลังการปราบปรามของทหาร ที่ผู้ลี้ภัยกล่าวว่า รวมถึงการสังหารหมู่และการข่มขืน ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีการสังหารพลเรือนและการเผาหมู่บ้าน แต่ทางการพม่ากล่าวว่า พวกเขากำลังต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ

การปราบปรามของกองทัพพม่า ระหว่างการปกครองของรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี ไม่ได้ก่อให้เกิดเสียงต่อต้านไม่พอใจในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ เนื่องจากชาวโรฮิงญามักถูกมองอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

แกมเบียต้องการข้อมูลดังกล่าวสำหรับคดีที่ฟ้องร้องพม่า ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในกรุงเฮก โดยกล่าวหาว่าพม่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ ปี 1948

ในปี 2561 ผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวว่า เฟซบุ๊กมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังที่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง

การสอบสวนของรอยเตอร์ในปีนั้นพบตัวอย่างถ้อยคำสร้างความเกลียดชังบนเฟซบุ๊กมากกว่า 1,000 ตัวอย่าง รวมถึงการเรียกโรฮิงญาและชาวมุสลิมอื่นๆ ว่าสุนัข หนอน และผู้ข่มขืน และยังเรียกร้องให้พวกเขาถูกยิงหรือถูกกำจัดทิ้ง

เฟซบุ๊กกล่าวว่า ในช่วงเวลานั้นบริษัทดำเนินการช้าเกินไปที่จะป้องกันการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและความเกลียดชังในพม่า

ในการพิจารณาคดีเมื่อวันพุธ ผู้พิพากษากล่าวว่า เฟซบุ๊กได้ดำเนินการขั้นแรกด้วยการลบเนื้อหาที่ส่งเสริมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่กลับสะดุดลงด้วยการไม่แบ่งปันเนื้อหานั้น

“ศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดเนื้องอกไม่เพียงแค่โยนเนื้องอกลงถังขยะ แต่ยังแสวงหารายงานพยาธิวิทยาเพื่อระบุโรค การไม่มอบเนื้อหาที่ถูกร้องขอ จะเป็นการทิ้งโอกาสที่จะทำความเข้าใจว่าข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้น ก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาได้อย่างไร และยังจะขัดขวางการพิจารณาที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” ผู้พิพาษากล่าว.




กำลังโหลดความคิดเห็น