xs
xsm
sm
md
lg

Metro ธุรกิจต่างชาติถอนจากจากพม่าอีกราย ยุติกิจการสิ้นตุลาคมนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ห้าง Metro Wholesale Myanmar
MGR Onilne - แบรนด์ต่างชาติที่ร่วมทุนทำธุรกิจกับกลุ่มโยมะ ตัดสินใจถอนตัวจากพม่าอีกราย ล่าสุดร้านค้าส่งวัตถุดิบธุรกิจอาหารทางออนไลน์ Metro Wholesale ประกาศยุติกิจการสิ้นเดือนตุลาคมนี้ หลัง “อานตี้ แอนส์” จากอเมริกา และ “บริดจสโตน”จากญี่ปุ่น ถอยไปก่อนแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม

วานนี้ (1 ก.ย.) เวลาประมาณ 17.00 น. เพจทางการของ Metro Wholesale Myanmar ได้เผยแพร่ประกาศ แจ้งว่า Metro จะหยุดกิจการในพม่า ตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ เป็นต้นไป

ในประกาศไม่ได้ระบุเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ Metro ต้องตัดสินใจเช่นนี้ บอกเพียงว่าฝ่ายบริหารได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้ว แต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ Metro ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ภายใต้มาตรฐานของบริษัทที่ได้ตั้งเอาไว้

Metro เป็นธุรกิจค้าส่งจากเยอรมนี ที่เน้นจำหน่ายวัตถุดิบสำหรับธุรกิจอาหาร โดยมีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร Metro เปิดตัวในพม่าเมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง Metro AG ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ต กับ Yoma Strategic Holdings ในสัดส่วน 85 : 15 และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC : International Finance Corporation) ในเครือธนาคารโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562

รูปแบบธุรกิจของ Metro ในพม่า ไม่ได้มีหน้าร้านเป็นของตนเอง แต่ใช้วิธีการขายและนำส่งสินค้าถึงมือผู้ซื้อผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ โดยได้สร้างโกดังขนาด 5,800 ตารางเมตร อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละหว่า ย่านสิเรียม ชานกรุงย่างกุ้ง

หนังสือแจ้งยุติกิจการในพม่าของ Metro Wholesales


อย่างไรก็ตาม หลังเปิดตัวได้เพียง 1 ปี Metro ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขัน เมื่อห้าง Makro ไฮเปอร์มาร์ทในเครือเจริญโภคภัณฑ์จากประเทศไทย ซึ่งทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน ได้ไปเปิดห้างในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563

หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ บรรยากาศธุรกิจในพม่าได้ซบเซาลง สำทับด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ทำให้โรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ Metro ในพม่าหลายแห่งปิดกิจการ ขณะที่ลูกค้าที่เป็นประชาชนทั่วไป คุ้นชินกับการเดินเข้าไปจับจ่ายสินค้าภายในห้างมากกว่า จึงน่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Metro ตัดสินใจยุติธุรกิจในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน “อานตี้ แอนส์” (Auntie Anne’s) แฟรนไชส์ร้านขนมปังกรอบสัญชาติอเมริกัน ซึ่ง Yoma F&B บริษัทในในกลุ่มโยมะเป็นผู้นำเข้าไปเปิดในพม่าเมื่อปี 2562 ได้แถลงผ่านเพจทางการของร้าน ว่าจะปิดกิจการของสาขาในพม่าที่มีอยู่ 3 แห่ง ในวันที่ 16 กรกฎาคม โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ

ต่อมา ในวันที่ 6 กรกฎาคม บริษัท First Japan Tire Services (FJTS) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายยางรถยนต์แบรนด์ “บริดจสโตน” (Bridgestone) ในได้มีหนังสือแจ้งถึงดีลเลอร์ คู่ค้า และร้านจำหน่ายยางบริดจสโตนทั่วพม่าว่า FJTS จะยุติการทำธุรกิจในนามบริดจสโตนและการจำหน่ายยางบริดจสโตนในพม่า ในสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลอย่างละเอียดว่าเป็นเพราะเหตุใด

FJTS เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทเมียนมา มอเตอร์ พีทีอี ในเครือ Yoma Strategic Holdings กับมิตซูบิชิ คอร์ป จากญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในสัดส่วน 30 : 70 เพื่อเปิดร้านค้าและศูนย์บริการยางบริดจสโตนทั่วพม่า

Metro Wholesale จึงเป็นกิจการร่วมทุนจากต่างประเทศกับโยมะ กรุ๊ป อีกแห่งหนึ่งที่ได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากพม่า ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือนมานี้.




กำลังโหลดความคิดเห็น