xs
xsm
sm
md
lg

เขต ศก.สามเหลี่ยมทองคำเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊กเป็นภาษาพม่า แก้ปมปัญหาขัดแย้งแรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชื่อเฟซบุ๊กที่เดิมใช้ว่า Golden Triangle SEZ ได้ถูกเปลี่ยนเป็นภาษาพม่า แต่ยังความหมายเดิม
MGR Online - คณะบริหารเปลี่ยนชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก “เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ” ในลาว มาใช้เป็นภาษาพม่า คาดเพื่อลดช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างผู้บริหารชาวจีนกับแรงงานชาวพม่า ที่ไม่เข้าใจกันจนเกิดปัญหาบานปลายกลายเป็นการประท้วงใหญ่เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564

ไม่กี่วันมานี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับเฟซบุ๊กซึ่งเดิมเคยใช้ชื่อว่า Golden Triangle SEZ Laos ที่ระบุว่า เป็นบัญชีเฟซบุ๊กของประธานคณะกรรมการบริหาร เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โดยเปลี่ยนชื่อมาใช้เป็นภาษาพม่า แต่ยังคงความหมายว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำลาว” เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กเพจทางการของเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ไม่มีการเปลี่ยนชื่อ ยังคงใช้ว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ” เป็นภาษาลาว

เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ที่บ้านต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และเมืองท่าขี้เหล็ก รัฐชาน เป็นการลงทุนของบริษัทดอกงิ้วคำ ในเครือคิงส์ โรมัน กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจกาสิโนที่จดทะเบียนในฮ่องกง มีเจ้าเหว่ย นักธุรกิจชาวจีนเป็นเจ้าของ

เพจทางการของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ยังคงชื่อเดิมที่เป็นภาษาลาวเอาไว้
บริษัทดอกงิ้วคำได้สัมปทานจากรัฐบาลลาวให้ลงทุนสร้างเมืองใหม่ขึ้นในบริเวณนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2550 ภายในประกอบด้วยกาสิโนขนาดใหญ่ แหล่งบันเทิงครบวงจร เขตพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย มีนักธุรกิจชาวจีนเข้ามาเปิดกิจการอยู่ในนี้หลายราย และบริษัทดอกงิ้วคำกำลังก่อสร้างสนามบินนานาชาติในนี้ เพื่อใช้รับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ต้องการเดินทางมาเสี่ยงโชคที่นี่โดยเฉพาะ

ด้วยความที่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ทำให้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ต้องใช้แรงงานจำนวนมากนับหมื่นคน และแรงงานส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าซึ่งมีอยู่หลายพันคน

เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุแรงงานชาวพม่าจำนวนนับพัน เดินขบวนประท้วงเพราะไม่พอใจมาตรป้องกันโควิด-19 ที่ฝ่ายบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำนำมาใช้อย่างเข้มงวด มีการล็อกดาวน์หมู่บ้านพม่า ทำให้แรงงานที่อาศัยอยู่ในนี้มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ขณะที่หลายคนต้องขาดรายได้ เพราะหลายกิจการและการก่อสร้างในนี้ต่างหยุดชะงัก หลังเกิดการระบาดของโควิด-19

ปมหนึ่งของปัญหามีความพยายามโยงเรื่องภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ กับสถานการณ์ทางการเมืองในพม่า ผ่านทางสังคมออนไลน์ โดยใช้ประเด็นที่โครงการนี้เป็นของชาวจีน มีการอ้างคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่มีแรงงานพม่าซึ่งอยู่ระหว่างการกักตัวรอดูอาการโควิด-19 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ลักลอบเล่นไพ่ ทำให้ผู้ดูแลสั่งลงโทษโดยการเฆี่ยน มาขยายความว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม หรือเป็นอคติที่ผู้บริหารมีต่อแรงงานชาวพม่า

ผู้บริหารแขวงบ่อแก้ว ร่วมกับฝ่ายบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ พยายามเจรจากับแรงงานที่ประท้วงจนเข้าใจกันในระดับหนึ่ง และยอมสลายตัวกลับที่พัก จากนั้นอีก 2 วัน ผู้บริหารจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐชาน นั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงมาประชุมกับผู้บริหารแขวงบ่อแก้วที่ฝั่งลาว เพื่อหาทางออกระยะยาว และได้ชี้แจงให้แรงงานชาวพม่าทุกคนในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ทางการลาวนำมาใช้เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด

คณะเฉพาะกิจป้องกันโควิด-19 แขวงบ่อแก้ว กำหนดให้แรงงานที่ต้องการเดินทางกลับพม่าทุกคนต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อน หากผลตรวจเป็นลบจึงจะกลับได้ในวันรุ่งขึ้น แต่หากผลเป็นบวก ต้องได้รับการรักษาจากทางฝั่งลาวจนหายดีก่อนค่อยส่งตัวกลับ และจำกัดการส่งแรงงานจากฝั่งลาวข้ามไปยังท่าขี้เหล็กไว้ไม่เกินครั้งละ 200 คน.

คณะสงฆ์ลาวในแขวงบ่อแก้ว ร่วมกันนำข้าวปลาอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค และของใช้จำเป็นไปให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานชาวพม่าในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม




กำลังโหลดความคิดเห็น