xs
xsm
sm
md
lg

เปิด "วิทยาลัยดอยไตแลง" สอนปริญญาตรี เด็กไทใหญ่เรียนรัฐศาสตร์เป็นคณะแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.เจ้ายอดศึก (สวมหมวกสีแดง) เป็นประธานเปิดมหาวิทยาลัยดอยไตแลง เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา
MGR Online - ท่ามกลางสถานการณ์ที่ซับซ้อนขึ้นทุกวันในพม่า สภาเพื่อการกอบกู้รัฐชานปรับกลยุทธ์ มุ่งพัฒนาการศึกษาให้เยาวชนไทใหญ่ ล่าสุดเปิด “วิทยาลัยดอยไตแลง” สอนระดับปริญญาตรี รับนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ก่อนเป็นสาขาวิชาแรก

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม เวลา 09.00 น. สภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) ถือฤกษ์วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ปีไต 2115 ซึ่งตรงกับวันเข้าพรรษาในพม่า (การนับวันทางจันทรคติของไทยกับพม่าปีนี้ต่างกัน 1 วัน) เป็นวันเปิดทำการวันแรกของวิทยาลัยดอยไตแลง (Loi Tai Leng College) สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีแห่งแรกบนฐานบัญชาการใหญ่ RCSS

สำหรับดอยไตแลงอยู่บนสันปันน้ำชายแดนรัฐชาน-ไทย ในอำเภอเมืองปั่น จังหวัดลางเคอ ตรงข้ามกับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธาน RCSS ได้เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมกับ พล.ท.จายยี่ รองประธานคนที่ 1 และ พ.อ.จายหลานไต ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการศึกษา RCSS มีบรรดาครู อาจารย์ และนักเรียนของโรงเรียนเชื้อชาติดอยไตแลงมาร่วมงานจำนวน 430 คน

วิทยาลัยดอยไตแลง คาดว่าจะรับนักเรียนที่เรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนเชื้อชาติดอยไตแลงเข้ามาเป็นนักศึกษาก่อนในปีแรก โดยสาขาวิชาที่เปิดสอนเป็นคณะแรกได้แก่รัฐศาสตร์ (Political Science) จากนั้นจึงค่อยเริ่มเปิดรับนักเรียนจากพื้นที่อื่นในทุกรัฐทุกเขตของพม่า ให้มีโอกาสได้เข้ามาเรียนที่วิทยาลัยแห่งนี้


ก่อนหน้านี้ บนดอยไตแลงมีโรงเรียนเชื้อชาติดอยไตแลง ที่เปิดการเรียนการสอนบนฐานบัญชาการใหญของ RCSS มานานกว่า 10 ปีแล้ว เริ่มจากการมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่ลูกหลานผู้อพยพหนีภัยจากการสู้รบในรัฐชาน รวมถึงลูกหลานทหารในสังกัด RCSS จากนั้นได้พัฒนาการเรียนการสอนมาเป็นลำดับ

ปัจจุบันโรงเรียนเชื้อชาติดอยไตแลงเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมตอนปลาย หลักสูตร 12 ปี มีนักเรียนประมาณ 11,000 คน ครู 500 คน

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 โรงเรียนเชื้อชาติดอยไตแลง ได้จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนซึ่งจบการศึกษาระดับชั้นต่างๆ รวมทั้งสิ้น 140 คน โดยเพิ่งจัดเป็นครั้งแรก พล.อ.เจ้ายอดศึก มาเป็นผู้มอบใบประกาศ แต่หลังจากนั้น ได้เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องงดพิธีการนี้ไปชั่วคราว

นักเรียนที่เข้ารับประกาศนียบัตรในครั้งนั้น แบ่งเป็นผู้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 8 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 21 คน ชั้นประถมศึกษา 37 คน นักเรียนดีเด่นมีคะแนนสอบสูงสุดอันดับ 1-3 รวม 36 คน นักเรียนที่ได้รับรางวัลพากเพียรดีเด่น 1 คน และมียุวชนทหาร ซึ่งเรียนจบชั้นปีที่ 3 ที่เข้าร่วมรับประกาศนียบัตรอีก 37 คน








พล.อ.เจ้ายอดศึก ได้ให้โอวาทแก่ผู้เข้ารับประกาศนียบัตรในวันนั้นมีใจความโดยสรุปว่า นักเรียนที่จบการศึกษานั้นถือว่าได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่แล้ว อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนนั้นยังไม่เพียงพอ ทุกคนจำเป็นต้องแสวงหาความรู้รอบตัวเพิ่มเติม และใช้ความรู้ไปในทางที่ถูกต้อง มีคุณธรรม อย่านำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในทางที่ผิด

สำหรับนักเรียนซึ่งจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเชื้อชาติดอยไตแลง ส่วนหนึ่งได้ถูกส่งต่อมาเข้าเรียนระดับปริญญาตรีในประเทศไทย โดยโรงเรียนได้มีการประสานงานกับมหาวิทยาลัยบางแห่งเอาไว้แล้ว อีกส่วนหนึ่งส่งไปเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาในรัฐชาน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายพัฒนาการศึกษา RCSS ได้วางแผนเปิดการศึกษาระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นที่มาของการเปิดวิทยาลัยดอยไตแลงขึ้นในครั้งนี้

พล.อ.เจ้ายอดศึก เพิ่งลาออกจากรักษาการประธานคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่มที่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ไปแล้วกับรัฐบาลพม่า เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังดำรงตำแหน่งนี้มานานถึง 2 ปีติดต่อกัน โดยให้เหตุผลว่าต้องการมีเวลาดูแลและบริหารงานภายใน RCSS ได้อย่างเต็มที่

PPST ได้ตั้ง นายอ่องมิน จากพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) ขึ้นเป็นรักษาการประธาน มีทีมงานประกอบด้วย พ.อ.ขุน อ๊คคา จากองค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO) และ พ.อ.จายเงิน จาก RCSS เป็นทีมงาน.

พิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนเชื้อชาติดอยไตแลง ซึ่งเพิ่งจัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 จากนั้นเกิดโควิด-19 ระบาด จึงระงับการจัดไว้ก่อนชั่วคราว










กำลังโหลดความคิดเห็น