xs
xsm
sm
md
lg

"รัสเซีย-จีน" หนุนกองทัพอากาศลาว วางศิลาฤกษ์กองบัญชาการแห่งใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Onilne - หลังสถาปนาได้ 2 ปี กองทัพอากาศลาวกำลังจะมีกองบัญชาการเป็นของตนเอง โดยได้ Frontier Services Group จากจีนมาช่วยสร้าง ถือเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนจากที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงกลาโหมรัสเซียช่วยเสริมเขี้ยวเล็บให้มาตลอด

วันนี้ (3 ก.ค.) ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารกองบัญชาการทหารอากาศ สปป.ลาว โดยผู้ร่วมในพิธี ประกอบด้วย พล.ต.วงคำ พมมะกอน รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ พลจัตวาคำเหล็ก แสงพะจัน ผู้บัญชาการทหารอากาศ พ.อ.พิเศษหลีปิ้ง ที่ปรึกษาทูตฝ่ายป้องกันประเทศ สถานทูตจีนประจำลาว สุ้ย จี้หมิง กรรมการบริหาร บริษัท Frontier Services Group (FSG) พร้อมตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สุ้ย จี้หมิง กรรมการบริหาร บริษัท Frontier Services Group
พลจัตวาคำเหล็ก แสงพะจัน ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า การก่อสร้างอาคารกองบัญชาการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการขยายตัวของกองทัพอากาศลาว ตามแนวทางที่พรรคและรัฐบาลกำหนดไว้ เพื่อต้องการปรับรูปแบบการทำงานให้ทันสมัยในภารกิจปกป้องน่านฟ้าของประเทศ อาคารสำนักงานแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งความช่วยเหลือที่ลาวได้รับจากจีน โดยได้เซ็นสัญญาให้ FSG มาช่วยดูแลการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563

FSG เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง มีสำนักงานใหญ่อยู่ในฮ่องกงและปักกิ่ง ประกอบธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่รักษาความปลอดภัย การให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน โลจิสติกส์ ประกันภัย และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เน้นในประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

สุ้ย จี้หมิง กรรมการบริหาร FSG กล่าวว่า FSG เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในลาวตั้งแต่ปี 2560 รับงานส่วนใหญ่จากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงป้องกันประเทศ

วลาดิเมียร์ กาวีมิน (ซ้าย) เอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำลาว ในพิธีมอบศูนย์ฝึกทหารอากาศให้แก่กองบัญชาการทหารอากาศลาว ที่กองบัญชาการ กองพันใหญ่ 703 นครหลวงเวียงจันทน์ โดยมี พล.อ.จันสะหมอน จันยาลาด (กลาง) รัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563
กองบัญชาการทหารอากาศลาว ใช้ชื่อย่อว่า “กบอ.” เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ตามดำรัส ฉบับที่ 19/นย. ลงวันที่ 30 มกราคม 2562 ในสมัยของทองลุน สีสุลิด เป็นนายกรัฐมนตรี โดยขึ้นตรงกับกระทรวงป้องกันประเทศ และแต่งตั้งให้ พลจัตวาคำเหล็ก แสงพะจัน เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก

เดิมเหล่ารบทางอากาศของลาวใช้ชื่อว่ากรมทหารอากาศ ถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2513 ขึ้นกับกองทัพประชาชนลาว โดยมีฐานบินอยู่ 4 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่สนามบินวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ สนามบินล่องแจ้ง แขวงไซสมบูน สนามบินปากเซ แขวงจำปาสัก และสนามบินทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง

สำหรับสนามบินทุ่งไหหินเดิมเป็นสนามบินทหาร แต่ในปี 2541 ได้ถูกเพิ่มภารกิจด้านพลเรือนเข้ามาด้วย รัฐบาลลาวจึงได้มอบให้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการบินพลเรือน กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ต่อมา วันที่ 12 มิถุนายน 2563 กรมการบินพลเรือนได้คืนความรับผิดชอบสนามบินทุ่งไหหินให้กลับมาอยู่ในการดูแลของกองบัญชาการกองทัพอากาศ

ทหารอากาศลาว (ภาพจากเพจ AEROLAOS)
หลังจัดตั้งกองบัญชาการทหารอากาศได้ 6 เดือน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 ในวาระเฉลิมฉลองใหญ่ครบรอบ 71 ปีกองทัพประชาชนลาว กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้ให้ความช่วยเหลือโดยมอบศูนย์ฝึกทหารอากาศ และอุปกรณ์ทางเทคนิคทหารให้แก่กองบัญชาการทหารอากาศลาว ที่สนามบินวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์

ต่อมา หลังรับมอบความดูแลสนามบินทุ่งไหหินคืนมาจากกรมการบินพลเรือนได้ 2 เดือน กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้สร้างห้องทดลอง ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบินรบให้แก่กองทัพอากาศลาว ที่สนามบินทุ่งไหหิน โดยได้ทำพิธีรับมอบกันที่สนามบินทุ่งไหหิน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563

ข้อมูลจากวิกิพีเดียภาษาไทย ระบุว่า กองบัญชาการทหารอากาศลาว มีเครื่องบินประจำการอยู่ประมาณ 50 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินของรัสเซีย โดยในปี 2562 ลาวได้สั่งซื้อเครื่องบินขับไล่ YAK-130 จากรัสเซียมาประจำการเพิ่ม จำนวน 10 ลำ

เครื่องบินรบที่ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศลาว
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ได้มีพิธีรับมอบสนามบิน ศูนย์ควบคุมและบำรุงรักษาอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ระหว่างบริษัทแอลซี ขาเข้า-ขาออก จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างกับบริษัทสกาย โทละคม (โครงการสื่อสารเพื่อภาครัฐ ในสังกัดกระทรวงป้องกันประเทศ) เจ้าของโครงการ

กิน้อย วิวงพัน ประธานบริษัทแอลซี ขาเข้า-ขาออก กล่าวว่า สนามบิน Drone แห่งนี้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 30 เมษายน 2563 ใช้เวลาสร้าง 5 เดือน งบประมาณก่อสร้าง 301,927 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในประกอบด้วย

- รันเวย์ยาว 245 เมตร กว้าง 11.6 เมตร
- ศาลาเตรียมบิน ขนาด 6x10 เมตร
- อาคารปฏิบัติการ ห้องอาหาร อาคารเรือนนอนป้องกัน ขนาด 6x18 เมตร และป้อมยามขนาด 2x2 เมตร
- ถนน-ทางเข้าสนามบิน
- กำแพงรอบค่ายยาว 1,364 เมตร สูง 2 เมตร
- ตาข่ายไฟฟ้า 22 kv ยาวรวม 450 เมตร กับตาข่ายไฟฟ้า 0.4 kv ยาว 600 เมตร

สนามบิน Drone แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนากองทัพลาวให้มีความเข้มแข็งและทันสมัย มีภารกิจเพื่อฝึกฝนเจ้าหน้าที่ในการติดต่อสื่อสาร บังคับ ควบคุม Drone ให้ปฏิบัติการตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในยามที่เกิดภัยพิบัติ การสืบข่าว ค้นหาวัตถุ คน รวมถึงการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวทั้งกลางวันและกลางคืน.








กำลังโหลดความคิดเห็น