xs
xsm
sm
md
lg

อาการหนัก! เบนเป้าวินาศกรรมพม่าสู่สาธารณูปโภค เผา สนง.เขื่อนไฟฟ้าลอปิตะ รัฐกะยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพอาคารบริหารโรงไฟฟ้าลอปิตะ 1 ที่ถูกไฟไหม้ (ภาพจากสำนักข่าว Kantarawaddy Times)
MGR Online - เป้าก่อวินาศกรรมในพม่าเริ่มถูกเบนสู่กิจการสาธารณูปโภค เช้ามืดวานนี้มีมือดีเผาอาคารบริหาร โรงไฟฟ้าพลังน้ำลอปิตะ 1 แหล่งพลังงานหลักที่ป้อนไฟฟ้าให้ทั่วพม่าถึง 24% ในเมืองลอยก่อ รัฐกะยา วอด แต่ไม่สามารถจับมือใครดมได้

เวลาประมาณ 03.00 น. วานนี้ (27 พ.ค.) เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่อาคารบริหาร โรงไฟฟ้าพลังน้ำลอปิตะ 1 ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐกะยา มาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร

ไม่มีผู้ใดสามารถบอกรายละเอียดของเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ สำนักข่าว Kantarawaddy Times สอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งให้ข้อมูลเพียงว่าเห็นเปลวไฟลุกไหม้ขึ้นตั้งแต่เช้ามืด ไม่รู้ว่ามีสาเหตุจากอะไร อย่างไรก็ตาม ภาพข่าวที่ Kantarawaddy Times นำเสนอมีทั้งภาพตัวอาคารขณะที่ไฟกำลังไหม้ และภาพตอนที่ไฟดับลงแล้วในตอนเช้า

Kantarawaddy Times ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ห่างจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ประมาณ 16 กิโลเมตร มีค่ายทหารพม่าตั้งอยู่ และจากปากคำของชาวบ้านบอกว่า เมื่อไฟดับแล้ว มีทหารพม่ากลุ่มหนึ่งขับรถมาดูสถานที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้ทำอะไร

ที่ตั้งโรงไฟฟ้าลอปิตะ 1 ที่เกิดเพลิงไหม้อาคารบริหาร เมื่อเช้ามืดวานนี้
กะยาเป็นรัฐชาติพันธุ์ที่เล็กที่สุดในพม่า อยู่ทางทิศตะวันออกติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง ไทใหญ่ พม่า และปะโอ ตลอดกว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในรัฐกะยาได้เกิดการสู้รบอย่างหนัก ระหว่างกองกำลังติดอาวุธที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นมาเองกับทหารพม่า โดยเฉพาะที่เมืองดีมอโซ จังหวัดลอยก่อ

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำลอปิตะ เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของพม่า โครงการถูกริเริ่มขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามข้อตกลงร่วมพม่า-ญี่ปุ่น เพื่อการฟื้นฟูสาธารณูปโภคในปี 2493 โดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำบะลูชอง ในรัฐกะยา

แม่น้ำบะลูชอง มีต้นกำเนิดมาจากทะเลสาปอินเล เมืองหยองห้วย จังหวัดตองจี ในรัฐชาน ไหลมาทางทิศตะวันออกเข้าสู่รัฐกะยา มาบรรจบกับแม่น้ำปอนที่จังหวัดลอยก่อ จากนั้นไหลลงใต้ ไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวินที่เมืองพาซอง จังหวัดบอละแค






โครงการไฟฟ้าพลังน้ำลอปิตะมีกำลังการผลิตรวม 248 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ถือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักของพม่าในปัจจุบัน ข้อมูลของเครือข่ายแม่น้ำพม่า (Burma River Network) ระบุว่า ทุกวันนี้ 24% ของไฟฟ้าที่ใช้อยู่ทั่วประเทศพม่า ถูกผลิตมาจากโครงการลอปิตะ

ตลอดลำน้ำบะลูชองในจังหวัดลอยก่อ มีโรงไฟฟ้าตั้งเรียงลดหลั่นลงมา 3 แห่ง บนสุด คือโรงไฟฟ้าพลังน้ำลอปิตะ 1 ซึ่งเพิ่งถูกไฟไหม้อาคารสำนักงานไปเมื่อเช้ามืดวานนี้ โรงไฟฟ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2530 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 28 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง กำลังการผลิตเครื่องละ 14 เมกะวัตต์

ถัดลงมาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำลอปิตะ 2 อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าลอปิตะ 1 ประมาณ 4 ไมล์ เป็นโรงไฟฟ้าเก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุด มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 168 เมกะวัตต์ จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 6 เครื่อง โรงไฟฟ้าลอปิตะ 2 เฟสแรกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2497 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง กำลังการผลิตเครื่องละ 28 เมกะวัตต์ เฟสที่ 2 สร้างในปี 2517 โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากำลังการผลิตเครื่องละ 28 เมกะวัตต์เพิ่มอีก 3 เครื่อง

ด้านล่างสุด เป็นโรงไฟฟ้าลอปิตะ 3 สร้างเมื่อปี 2551 อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าลอปิตะ 2 ประมาณ 5.2 ไมล์ มีกำลังการผลิตรวม 52 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง กำลังการผลิตเครื่องละ 26 เมกะวัตต์.

 โรงผลิตไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง ของโรงไฟฟ้าลอปิตะ 1 (ภาพจากกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน พม่า)




กำลังโหลดความคิดเห็น