MGR Online - จีนกำลังเพิ่มบทบาทในโครงข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง-เสาโทรคมนาคมที่ปักอยู่เกือบทั่วประเทศลาว ล่าสุด บริษัทร่วมทุนไฟฟ้าลาว-จีน ได้สัมปทานวางโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่เตรียมส่งเข้าจีนและเชื่อม Asean Power Grid
ช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีพิธีเซ็นสัญญาระหว่างรัฐบาลลาว กับบริษัทสายส่งไฟฟ้าแห่งชาติลาว (Electricite du Laos Transmission : EDL-T) ในสัมปทานวางโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูง มี คำจัน วงแสนบูน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ทองพัด อินทะวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ฟ่าน ยา เหลียง ประธานคณะกรรมการบริหาร EDL-T คูน บัวแพงพัน รองผู้อำนวยการรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos : EDL) และจาง เวิงเฝิง รองผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทตาข่ายไฟฟ้าภาคใต้จีน (China Southern Power Grid : CSG) เป็นผู้ลงนามในสัญญา และมีสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน กับเจี่ยง จ้ายต่ง เอกอัครราชทูตจีน ประจำลาว เป็นสักขีพยาน
EDL-T เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง EDL และ CSG ภายใต้สัมปทานนี้ EDL-T จะเป็นผู้สร้างและบริหารโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงตั้งแต่ 230 kV (กิโลโวลต์) ขึ้นไปภายในประเทศลาว รวมถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระหว่างลาวกับประเทศรอบข้าง ซึ่งเป็นจุดแข็งของลาวในฐานะแบตเตอรี่อาเซียน
คำจัน วงแสนบูน รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน กล่าวว่า เมื่อ EDL-T ได้เข้ามาบริหารจัดการโครงข่ายสายส่ง จะทำให้ระบบไฟฟ้าในลาวมีเสถียรภาพมากขึ้น ช่วยส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในลาว และการส่งออกไฟฟ้าขายแก่ประเทศเพื่อนบ้าน
เจี่ยง จ้ายต่ง เอกอัครราชทูตจีนประจำลาว กล่าวว่า ปี 2563 จีนและลาวได้ร่วมเป็นประธานจัดประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 และที่ประชุมได้ผ่านแถลงการณ์เวียงจันทน์ ที่ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง-ล้านช้าง โดยมี EDL-T เป็นผู้รับแนวทางนี้ไปปฏิบัติ
สัญญาสัมปทานโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าแรงสูงลาวครั้งนี้เป็นรูปธรรมต่อเนื่องหลังจากเมื่อปีที่แล้ว ได้เกิดข่าวลือว่าลาวกำลังมีปัญหาการจ่ายหนี้สินคืนแก่จีน จนจำเป็นต้องโอนอำนาจบริหารเขื่อนและสายส่งไฟฟ้าให้จีนเพื่อใช้หนี้ ซึ่งต่อมาทางการลาวได้ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ และยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ข่าวลือนี้เกิดขึ้นในต้นเดือนกันยายน 2563 เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ลาวกำลังมีปัญหาในการจ่ายหนี้สินคืนแก่จีน โดยรอยเตอรอ้างข้อมูลจากสำนักข่าวซินหัวว่า วันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2563 EDL ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับ CSG ตั้งบริษัท EDL-T ขึ้น โดยฝ่ายจีนจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง บริหาร รวมถึงจัดการเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนในลาวไปขายให้แก่ประเทศอื่นๆ ในอนาคต
ต่อมา วันที่ 9 กันยายน EDL ได้เผยแพร่แถลงการณ์และคลิปแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวดังกล่าว เนื้อหาในแถลงการณ์ของ EDL มีดังนี้
“...ประเด็นข่าวที่ว่าทางการจีนจะยึดระบบสาธารณูปโภคของประเทศลาว โดยเฉพาะเขื่อนไฟฟ้าและสายส่ง ความจริงแล้วคือไม่มีการยึดใดๆ จากทางรัฐบาลจีนหรือบริษัทจีน เป็นเพียงความร่วมมือพัฒนาระบบสายส่งแรงสูงร่วมกันระหว่างลาวและจีนที่มีมานาน
รัฐบาลลาวและ EDL ยืนยันว่าการควบคุม บริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้ายังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลลาว ไม่ใช่รัฐบาลประเทศอื่น การเข้ามาของบริษัท CSG ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ทางการจีนส่งรัฐวิสาหกิจของจีนเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลลาว ทั้งในแง่เทคนิค เงินทุน ซึ่งคาดว่าจะมีเงินเข้ามาลงทุนในระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศลาวเป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่นับวันเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากภายในและจากประเทศที่อยู่โดยรอบ
หลายสิบปีมาแล้ว รัฐบาลลาวได้เปิดกว้างการลงทุนของภาคเอกชน โดยให้สัมปทานในแหล่งผลิตไฟฟ้า แต่ปัจจุบันได้เปิดให้สัมปทานสายส่งด้วย แต่ EDL ยังเป็นผู้ควบคุมและสั่งการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และตอบสนองนโยบายของบรรดาประเทศอาเซียน ในกรอบความร่วมมือด้านพลังงาน ที่ส่งเสริมให้มี Asean Power Grid หรือการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างกัน
รัฐบาลลาวคาดหมายว่า ความร่วมมือระหว่างลาวและจีน จะสร้างโอกาสด้านการตลาดเพิ่มขึ้น โดยการขยายไฟฟ้าเข้าสู่จีนและกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มเติม หากระบบสายส่งไฟฟ้าสามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด
ท้ายสุดแล้ว ภายใต้รูปแบบสัมปทาน ทั้งระบบสายส่งและเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่ได้สร้างและเริ่มผลิตไฟฟ้าไปแล้ว ต่อไปในอนาคตจะถูกโอนเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลลาวทั้งหมด ตามสัญญา BOT ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนที่เป็นมาตรฐานสากล และคาดหมายว่ามูลค่าทรัพย์สินที่จะโอนเป็นของรัฐบาลลาวจะมีมูลค่ามหาศาล...”
สัมปทานสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่รัฐบาลลาวให้แก่บริษัทร่วมทุนลาว-จีน เป็นอีก 1 โครงข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานที่บริษัทจากจีนกำลังเข้าไปมีบทบาทอยู่ในลาว
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 กระทรวงป้องกันประเทศของลาว บริษัท China Tower Corporation จากจีน และบริษัทคลิกลาว มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ คอนซัลแทนซี ได้เซ็นสัญญาจัดตั้งบริษัทร่วมธุรกิจลาว-ไชน่า ทาวเวอร์ขึ้น เพื่อทำธุรกิจให้เช่าเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมครบวงจรเป็นแห่งแรกในลาว
ลาว-ไชน่า ทาวเวอร์ มีแผนสร้างโครงข่ายเสาสัญญาณโทรคมนาคมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของลาว ให้เหตุผลว่าเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในทุกมุมของประเทศสามารถเข้าถึงบริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ โดยบริษัทจะทำหน้าที่ดูแลการส่งสัญญาณสื่อสารทุกประเภทผ่านเสาของบริษัทให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจะให้ธุรกิจเอกชนต่างๆ ที่อยู่ลาวเช่าเสา ชูจุดขายด้านความประหยัด เพราะแต่ละบริษัทไม่ต้องลงทุนสร้างหรือบำรุงรักษาเสาสัญญาณโทรคมนาคมของตน เพราะได้เปลี่ยนมาใช้วิธีเช่าแทน
China Tower Corporation เป็นผู้บริหารเสาโทรคมนาคมกว่า 2 ล้านต้นที่อยู่ในจีน ตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 โดยการร่วมทุนของรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมของจีน 3 แห่ง คือ China Mobile, China Telecom และ China Unicom เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน
ไม่กี่วันก่อนเซ็นสัญญาตั้งบริษัทร่วมทุนในลาว ในวันที่ 8 สิงหาคม 2561 China Tower Corporation เพิ่งนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยนำหุ้น 43.1 พันล้านหุ้น ออกมากระจายขายแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ในราคาหุ้นละ 1.26 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 0.1605 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถระดมทุนได้ถึง 6.9 พันล้านดอลลาร์ และ IPO ของ China Tower Corporation ถูกจัดให้เป็นดีลที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโลกในรอบ 2 ปีก่อนหน้า.