รอยเตอร์ - รัฐบาลลาวออกแนวทางปฏิบัติใหม่สำหรับการจัดการเขื่อนไฟฟ้า ที่มีเป้าหมายที่จะลดปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัย ตามการรายงานของสื่อวานนี้ (25)
ข้อบังคับใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. โดยกำหนดให้ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทุกราย แจ้งต่อเจ้าหน้าที่เมื่อระดับน้ำในเขื่อนกักเก็บน้ำแตะระดับสูงสุด หรือระดับน้ำในแม่น้ำลดลงจนถึงขั้นวิกฤต หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ส รายงาน
“การจัดการทรัพยากรน้ำและแม่น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนไฟฟ้า ถูกมองว่ามีความสำคัญ เนื่องจากลาวพยายามที่จะสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นและกลายเป็นผู้ส่งออกไฟฟ้า” รายงานระบุ
กระทรวงพลังงานและกระทรวงการต่างประเทศของลาวไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความเห็นถึงข้อบังคับดังกล่าว
การพัฒนาพลังงานน้ำเป็นหัวใจสำคัญในแผนของลาวที่จะส่งออกไฟฟ้าราว 20,000 เมกะวัตต์ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในปี 2573
ข้อมูลของ Mekong Infrastructure Tracker ระบุว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีเขื่อนอย่างน้อย 50 แห่ง สร้างขึ้นบนแม่น้ำสายหลักและสายย่อยหลายร้อยสายของลาว โดยเขื่อนอย่างน้อย 14 แห่งบนแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2561
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เขื่อนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอันเปราะบางของลุ่มน้ำโขง
การปล่อยน้ำอย่างกะทะหันที่ก่อให้เกิดอุทกภัย และการกักเก็บน้ำที่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนในช่วงท้ายน้ำ นำมาซึ่งการร้องเรียนจากชาวประมงและเกษตรกรทั้งในลาว และประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ท้ายน้ำ เช่น ไทยและกัมพูชา ที่ประชากรหลายล้านคนพึ่งพาแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต
นักสิ่งแวดล้มเรียกร้องให้มีการจัดการน้ำที่ดีขึ้นสำหรับเขื่อนในลาว รวมทั้งเขื่อน 11 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน เพื่อให้เกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุด
แต่ในขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวยังคงตั้งข้อสงสัยว่า ข้อบังคับใหม่ของลาวนี้จะถูกบังคับใช้หรือไม่
“แม้รัฐบาลลาวกำลังพัฒนาและปรับใช้กฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติหลายประการที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนไฟฟ้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ความสามารถของสถาบัน การบังคับใช้ และการตรวจสอบยังคงอ่อนแอ” แกรี่ ลี ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ กล่าว.