เอเอฟพี -ภายใต้ชุดป้องกันการติดเชื้อ สิทู อ่อง นำร่างเหยื่อโควิด-19 วางลงในหลุมและทำพิธีศพให้แก่ชุมชนชาวมุสลิมของเขาในนครย่างกุ้งที่เผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัส
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สิทู อ่อง อายุ 23 ปี และเพื่อนอาสาสมัครของเขา อาศัยอยู่ในสุสานแยกตัวออกจากครอบครัว ขณะที่พวกเขาต้องใช้เวลาหลายวันในการเดินทางไปเก็บศพผู้เสียชีวิตจากโรงพยาบาลและศูนย์กักตัวแห่งต่างๆ ของนครย่างกุ้ง
หากไม่มีทีมของพวกเขา ศพเหล่านี้จะถูกเผาตามธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมายอิสลาม
และเพราะอาสาสมัครเหล่านี้ ทำให้ร่างของผู้เสียชีวิตได้รับการทำพิธีสั้นๆ โดยอิหม่ามท้องถิ่นยังสุสานของชาวมุสลิมต่อหน้าญาติพี่น้องจำนวนไม่มากตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
สิทู อ่อง กล่าวว่า พวกเขาพอใจที่ได้เห็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตมีความสุข และรู้ว่าพระอัลเลาะห์ทรงเห็นสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่พวกเขาเสี่ยงชีวิตทำงานนี้
ชุมชนชาวมุสลิมในนครย่างกุ้งมีจำนวนอยู่ประมาณ 350,000 คน หรือประมาณ 7% ของประชากรในเมืองย่างกุ้ง และสมาคมมุสลิมต่างๆ ได้จัดหารถพยาบาล 3 คัน รถยนต์ 2 คัน และเสบียงอาหารให้แก่อาสาสมัคร
และเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส ทีมของพวกเขาทั้ง 15 คน ต้องอาศัยเพิงพักอยู่ภายในสุสาน ภายใต้ชุดป้องกันเต็มรูปแบบ ถุงมือยาง แว่นตา และเฟซชิลด์ พวกเขาทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืน ขับรถไปตามสถานที่ต่างๆ ฝ่าการจราจรคับคั่งในเมืองย่างกุ้ง
เป็นเวลาหลายเดือน ที่พม่าไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ด้วยมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมไม่ถึง 400 คนทั่วประเทศในช่วงกลางเดือน ส.ค. แต่ที่กล่าวไปนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเริ่มพุ่งสูงขึ้นในประเทศที่มีระบบการดูแลสุขภาพที่อ่อนแอที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แต่เวลานี้ พม่ามียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากกว่า 100,000 คน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน
นครย่างกุ้งกลายเป็นจุดระบาดของเชื้อไวรัส และทีมของสิทู อ่อง ต้องเก็บรวบรวมศพ 2-4 ศพทุกวัน
พวกเขาทำงานเป็นกะหมุนเวียนกันโดยทำงาน 2 สัปดาห์ เว้น 1 สัปดาห์ ทำให้ สิทู อ่อง มีเวลา 2-3 วันกับภรรยาและลูกชายอายุ 1 ขวบ ก่อนกลับไปทำงาน
เมื่อเมืองเริ่มล็อกดาวน์ครั้งแรกในเดือน เม.ย. เขาเลือกที่จะไม่บอกครอบครัวของเขาเกี่ยวกับแผนการการเป็นอาสาสมัคร
“หากผมบอกให้พวกเขารู้ แม่และภรรยาของผมคงจะไม่ปล่อยให้ผมทำ” สิทู อ่อง ยอมรับ และเสริมว่าบางครั้งครอบครัวของเขาก็มาหาเขาที่สุสาน โดยรักษาระยะห่างระหว่างกัน.