MGR ออนไลน์ - นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา ถามคำถามถึงประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์การรับความช่วยเหลือจากจีนของกัมพูชา โดยระบุว่า เขาจะพิจารณาก้าวลงจากตำแหน่งหากผู้ที่วิจารณ์สามารถยกชื่อประเทศที่สามารถแทนที่ความช่วยเหลือของจีนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้
ถ้อยแถลงดังกล่าวของฮุนเซนเป็นการตอบสนองต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากชาติมหาอำนาจว่ากัมพูชาเป็นหุ่นเชิดของจีน และเกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นว่ารัฐบาลกัมพูชากำลังวางแผนที่จะให้สิทธิพิเศษจีนเข้าถึงฐานทัพเรือเรียมใน จ.พระสีหนุ
ผู้นำเขมรกล่าวว่า บางประเทศได้วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่พวกเขามองว่ากัมพูชาเอนเอียงไปหาจีน
“ผมขอถามว่าหากจีนไม่สร้างถนนและสะพาน แล้วใครจะสร้าง?” ฮุนเซน กล่าว
“เราขอถามว่าหากจีนไม่เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แล้วใครจะทำ? โปรดตอบคำถามผมด้วย และหากคุณสามารถตอบผมได้ ผมพูดได้เลยว่าผมควรลงจากตำแหน่ง” ฮุนเซน กล่าว
การวิพากษ์วิจารณ์ของฮุนเซนต่อชาติมหาอำนาจอื่นๆ ที่ว่านั้นดูเหมือนจะหมายถึงสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ มีรายงานเมื่อต้นเดือนว่า กัมพูชาได้รื้อทำลายอาคารที่สหรัฐฯ ให้ทุนสนับสนุนในฐานทัพเรือเรียม ซึ่งฮุนเซนได้ปฏิเสธซ้ำต่อข้อกล่าวหาที่ว่ากัมพูชาจะให้จีนสิทธิพิเศษในฐานทัพเรือดังกล่าว
“มันเป็นฐานทัพเรือที่ต้องขออนุญาตในการเข้าใช้ และไม่เพียงจีนเท่านั้นที่มีสิทธิใช้ ประเทศอื่นๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน หากพวกเขาขออนุญาตเข้าเทียบจอด หรือจัดการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกับกัมพูชา” ผู้นำเขมร กล่าว
เมื่อปีก่อน หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า กัมพูชาและจีนได้ลงนามข้อตกลงลับที่อนุญาตให้กองกำลังทหารของจีนเข้าใช้ฐานทัพ ในความพยายามของปักกิ่งจะเสริมการอ้างสิทธิเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้
โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า สถานทูตรู้สึกผิดหวังในการทำลายสิ่งปลูกสร้างที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนที่ฐานทัพเรือเรียม
“เรารู้สึกผิดหวังที่เจ้าหน้าที่กัมพูชาได้เลือกที่จะรื้อถอนทำลายอาคารด้านความมั่นคงทางทะเล ที่มีอายุการใช้งานเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น และยังเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-กัมพูชา” โฆษกสถานทูต กล่าว
นอกจากนี้ สถานทูตยังอ้างถึงจดหมายในเดือน พ.ย.2562 ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยินดีที่จะหารือถึงวิธีที่จะเพิ่มความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และกัมพูชาที่จะปกป้องอธิปไตยของกัมพูชา
“เราจะยินดีที่จะเจรจาเกี่ยวกับความต้องการของกัมพูชา และเพื่อระบุว่าเราสามารถช่วยเหลือสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่ฐานทัพเรือเรียมได้อย่างไร ที่จะเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชาและทุกประเทศที่สนับสนุนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ กล่าว
ด้านโฆษกกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชามีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเองในการยอมรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ
“มันเป็นสิทธิอธิปไตยของกัมพูชา ดังนั้น หากกัมพูชาสามารถหาสินเชื่อกู้ยืมได้ ตามกฎหมายเราจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของเงินกู้ยืมนั้น” โฆษกกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าว
ด้านนักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า กัมพูชาควรรักษาความสัมพันธ์กับประเทศผู้บริจาคต่างๆ และชาติกำลังพัฒนาเช่นกัมพูชาต้องการความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ไม่เพียงแค่จีนเท่านั้น
“การมีเงินกู้จากหลายแห่งนั้นดีกว่า แต่ก็เป็นภาระของประเทศหากไม่มีความสามารถในการชำระคืน พวกเขา (สหรัฐฯ) กังวลว่ากัมพูชาจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญกัมพูชากำหนดให้ประเทศเป็นกลาง และไม่อนุญาตให้ฐานทัพต่างชาติตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา” นักวิเคราะห์ กล่าว
จนกระทั่งไม่นานนี้ ญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศผู้บริจาคช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยมีสหรัฐฯ และธนาคารพัฒนาเอเชีย อยู่ในลำดับถัดมา และตามข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง กัมพูชาได้กู้ยืมจากจีนมากกว่า 4,950 ล้านดอลลาร์ จนถึงเดือน มิ.ย.2563 ขณะที่ความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,690 ล้านดอลลาร์ถึงช่วงเวลาเดียวกัน.