เอเอฟพี - จากโรงงานในอินเดียไปจนถึงกัมพูชา แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตสินค้าให้แก่แบรนด์ดังทั่วโลกกล่าวว่า ความต้องการที่ลดลงซึ่งเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กำลังถูกนายจ้างใช้เป็นข้ออ้างในการกำจัดสหภาพแรงงานของพวกเขา
ผลกระทบจากการระบาด ทำให้ศูนย์กลางการผลิตทั้งในจีน บังกลาเทศ อินเดีย กัมพูชา และพม่า โดนยกเลิกคำสั่งซื้อมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และยังเป็นผลให้คนงานหลายแสนคนต้องตกงาน
แต่แรงงานกล่าวว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นช่องทางให้บรรดานายจ้างมุ่งเป้าไปที่สหภาพ ที่มักกดดันเรียกร้องการปรับเพิ่มค่าแรงและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น
เช่น ในรัฐกรณาฏกะ ของอินเดีย ที่เป็นแหล่งผลิตเสื้อผ้าราว 20% ของการผลิตทั้งหมดของประเทศ แกนนำสหภาพแรงงานอายุ 49 ปี นั่งขัดสมาธิประท้วงอยู่หน้าโรงงาน Euro Clothing Company II ทุกวันตั้งแต่โรงงานปิดตัวลงเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในคนงาน 1,200 คน ที่ถูกเลิกจ้าง
“ฉันทำงานที่นี่มา 10 ปี ได้ค่าจ้าง 348 รูปีต่อวัน (4.60 ดอลลาร์)” ปัทมา แกนนำสหภาพแรงงาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบกางเกง เสื้อแจ็กเกต และเสื้อยืด ที่ผลิตให้แก่ H&M กล่าว
บริษัทแม่ของโรงงานแห่งนี้ คือ บริษัท Gokaldas ผู้ผลิตเก่าแก่ที่สุดของรัฐกรณาฏกะ ที่บริหารโรงงานมากกว่า 20 แห่ง แต่โรงงานของปัทมาเป็นโรงงานของ Gokaldas เพียงแห่งเดียวที่มีสหภาพ
“พวกเขาต้องการกำจัดสหภาพมานานแล้ว และตอนนี้พวกเขาใช้โควิด-19 เป็นข้ออ้าง” ปัทมากล่าวกับเอเอฟพี และกล่าวว่าคนงานถูกเลิกจ้างอย่างผิดกฎหมายโดยไม่มีการแจ้งเตือน
โรงงานสิ่งทอของเอเชียสร้างงานให้แก่ผู้คนหลายล้านชีวิต รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมาสู่ประเทศที่ยากจน แต่การระบาดของโควิด-19 ส่งกระทบต่อภาคส่วนนี้อย่างหนัก
ที่บังกลาเทศ มีแรงงานถูกเลิกจ้างมากกว่า 100,000 คน ซึ่งราวครึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกสหภาพ
นักรณรงค์เคลื่อนไหวกล่าวว่า โรงงานหลายแห่งไม่พอใจสหภาพ และไม่สนับสนุนให้คนงานเข้าร่วมสหภาพ ขณะเดียวกัน ก็ข่มขู่คุกคามหรือไล่ออกแกนนำสหภาพที่มีปากเสียง แต่วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้กลายเป็นช่องทางในการปราบปรามสหภาพ
แบรนด์ยักษ์ใหญ่ถูกเรียกร้องให้ใช้ความแข็งแกร่งทางการเงินของพวกเขาปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในซัปพลายเชน โดยกลุ่มสิทธิแรงงานกล่าวว่า บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จำต้องแสดงให้ชัดเจนว่าพวกเขาจะยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับโรงงาน หากยังมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้น
“มันเป็นสิ่งผิดกฎหมายที่จะเลิกจ้างคนงานเพราะสหภาพ หรือปิดโรงงานเพราะสหภาพ” กลุ่มสิทธิแรงงาน กล่าว
ในพม่า ที่ก่อนการระบาดของโควิด-19 ภาคสิ่งทอของประเทศถูกมองว่าเป็นสัญญาณแห่งความรุ่งเรือง มีคนงาน 298 คน ถูกไล่ออกจากโรงงาน Rui Ning ที่ผลิตเสื้อผ้าให้แบรนด์ดังอย่าง Zara ในเดือน พ.ค.
แรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพได้เขียนจดหมายถึงอามันซิโอ ออร์เตก้า ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทอินดิเท็กซ์ กรุ๊ป ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ซาร่า ว่า “ผู้ที่ร่ำรวยในระดับนี้คงไม่จำเป็นต้องทำกำไรจากการระบาดของโรคด้วยการกำจัดสหภาพ”
ด้านอินดิเท็กซ์ กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นและได้อ้างถึงระเบียบปฏิบัติของบริษัทที่ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้แทนแรงงาน
แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้ายที่สุด คนงานที่ส่งเสียงคัดค้านการเลิกจ้างกำลังเผชิญโทษจำคุก เช่น ที่กัมพูชา ผู้แทนสหภาพแรงงานเขมรโพสต์เฟซบุ๊กประท้วงการเลิกจ้างคนงานหลายสิบคนจากโรงงาน Superl ชานกรุงพนมเปญ ผลิตกระเป๋าหนังสำหรับแบรนด์แฟชั่นเช่น Michael Kors, Tory Burch และ Kate Spade และ 48 ชั่วโมงหลังจากนั้น เธอถูกคุมขังด้วยข้อหายั่วยุปลุกปั่น แม้จะได้รับการปล่อยตัวในอีก 55 วันต่อมา แต่เธอยังถูกตั้งข้อหาอยู่
ปอ สีนา แกนนำแรงงานชาวเขมรกล่าวว่า มีแรงงานและสหภาพถูกเลิกจ้างมากกว่า 2,000 คน
“ในอดีต โรงงานไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ แต่โควิดเปิดโอกาสให้พวกเขา” ปอ สีนา กล่าว.