เอเอฟพี - รายงานของ 2 องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนชั้นนำ ระบุว่า รัฐบาลกัมพูชากำลังใช้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นข้ออ้างในการเพิ่มการปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม
นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน แกนนำแรงงาน และนักข่าว ล้วนต้องเผชิญต่อความรุนแรง การข่มขู่ การกักขัง และการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อคุกคามในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้นับตั้งแต่การปราบปรามเริ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ก.ค.2561
“นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้รัฐบาลมีข้อโต้แย้งและเครื่องมือในการปราบปรามผู้เห็นต่างในกัมพูชามากขึ้น” รายงานของสหพันธ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (International Federation for Human Rights - FIDH) และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (World Organisation Against Torture - OMCT) ระบุ
กฎหมายฉบับใหม่ที่ร่างขึ้นในบริบทของโควิด-19 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 29 เม.ย. อนุญาตให้รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อใดก็ตามที่กัมพูชาเผชิญต่อ “อันตราย” และ “ความเสี่ยงใหญ่หลวง” เช่นการระบาดของโรค
กฎหมายที่บัญญัติไว้มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน และให้อำนาจรัฐในการจำกัดการเคลื่อนไหว เสรีภาพในการแสดงออก และการสมาคม ทันทีที่รัฐเห็นว่าสถานการณ์มีความอันตราย รายงานระบุ
กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน เสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว จำกัดเสรีภาพในการพูด และทำให้การชุมนุมอย่างสันติกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในกัมพูชากล่าวไว้เมื่อวันที่ 17 เม.ย.
และเมื่อเดือนที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ใช้การระบาดเป็นข้ออ้างในการจับกุมผู้สนับสนุนฝ่ายค้านและนักวิจารณ์ที่ตั้งคำถามถึงการรับมือไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล
“ข้อกล่าวหาเรื่องข่าวปลอมที่เชื่อมโยงกับการระบาดเพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายเดือนมานี้ ประชาชนมากกว่า 40 คน ถูกจับกุมตัวนับตั้งแต่เริ่มการระบาดจากการโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องไปถึงโควิด-19” ผู้ประสานรายงานของ FIDH และ OMCT กล่าว
“การกล่าวหาเรื่องข่าวปลอมสกัดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมด โดยเฉพาะการจับกุมที่สร้างระลอกคลื่นแห่งความหวาดกลัวไปสู่ส่วนที่เหลือของภาคประชาสังคม” ผู้ประสานงาน กล่าว และร้องขอให้ประชาคมระหว่างประเทศกดดันรัฐบาลกัมพูชาเพื่อให้แน่ใจว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่ถูกนำมาใช้
กัมพูชามีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมเพียง 141 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต ท่ามกลางข้อกังขาว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับต่ำนั้นอาจเนื่องมาจากการขาดการทดสอบหาเชื้อและการติดตามผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ
นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเดือน ก.ค.2561 กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนดำเนินงานในบรรยากาศของการปราบปรามที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของกัมพูชา
“กัมพูชาได้กลายเป็นสถานที่ที่สิ้นหวังสำหรับภาคประชาสังคม ตั้งแต่แกนนำแรงงานไปจนถึงนักเคลื่อนไหวสิทธิที่ดินและโลกไซเบอร์ รัฐบาลกัมพูชาต้องหยุดคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและออกมาตรการคุ้มครองคนเหล่านั้น และทำให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถดำเนินงานที่สำคัญของพวกเขาต่อไปได้” คำแถลงของเลขาธิการ OMCT ระบุ
นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาเป็นหนึ่งในผู้นำที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดของโลก กุมอำนาจในมือมานานถึง 35 ปี ด้วยวิธีการที่นักวิจารณ์กล่าวว่ายังรวมถึงการจำคุกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและนักเคลื่อนไหว.