xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ทำชาวเวียดนามวิตกอนาคตไม่แน่นอน เริ่มรัดเข็มขัดเก็บออมมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ กำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเวียดนามที่หลายคนมีรายได้ลดลง บางส่วนตกงาน และอีกจำนวนมากเริ่มหวั่นวิตกถึงความไม่แน่นอนในอนาคต ทำให้ชาวเวียดนามเริ่มรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้นในตอนนี้

สื่อท้องถิ่นของเวียดนามได้รายงานถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนหลังเผชิญต่อสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส

พนักงานสาวรายหนึ่งจากนครโฮจิมินห์ได้เปิดเผยว่า จากช่วงเวลาปกติที่เคยซื้ออาหารนำเข้าและใช้จ่ายเงินราว 3 ล้านด่งต่อสัปดาห์ (ประมาณ 4,100 บาท) วิถีดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วง 2 เดือนมานี้ โดยตอนนี้เธอมักเลือกซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เกตทั่วไปเท่านั้น และคิดทบทวนทุกครั้งก่อนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่ทำอยู่เป็นประจำ

“การออมเงินเป็นเรื่องแรกที่ฉันคิดถึงในทุกวันนี้ เงินเดือนของฉันลดลงเพราะบริษัทไม่มีลูกค้ามาหลายเดือนแล้วเนื่องจากโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” หญิงสาว กล่าว และว่าบริษัทยังเลิกจ้างพนักงานบางส่วนเมื่อเดือนที่ผ่านมา

“เพื่อนของฉันก็ทำแบบเดียวกัน เราให้กำลังใจกันและกันในการเก็บเงินแทนการซื้อลิปสติกแท่งใหม่หรือรองเท้าคู่ใหม่” เหวียน แถ่ง ลวน พนักงานบริทเอกชน กล่าว

เหมือนกับอีกหลายล้านคนในเวียดนามที่ต้องปรับลดการใช้จ่ายเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุใหม่ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมการชอปปิ้งของผู้คนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกอย่างมากเช่นกัน

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ยอดค้าปลีกในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 390 ล้านล้านด่ง (กว่า 537,000 ล้านบาท) ลดลง 4% จากเดือน ก.พ. และลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ต่อมาในเดือน เม.ย. ยอดค้าปลีกลดฮวบลงถึง 20.5% จากเดือนก่อนหน้า

ครูสอนภาษาอังกฤษในกรุงฮานอยรายหนึ่งระบุว่า เธอต้องทำรายการสิ่งของจำเป็นเมื่อเธอต้องออกไปจับจ่ายสินค้าในซูเปอร์มาร์เกต เธอระบุว่า ช่วงเวลาเช่นนี้เธอไม่สามารถใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายได้ และเธอหยุดไปห้างสรรพสินค้ามาตั้งแต่เดือน ก.พ. แม้เวลานี้รัฐบาลจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์แล้วก็ตาม

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า นับจนถึงกลางเดือน เม.ย. มีประชากรราว 5 ล้านคน ต้องหยุดงานชั่วคราว สลับทำงาน หรือตกงาน

นอกจากนี้ ความลังเลของผู้คนในการจับจ่ายหรือพบปะรวมกลุ่มกันในที่สาธารณะ ยังหมายความว่าบรรดาร้านค้าและห้างสรรพสินค้าหลายแห่งแทบไม่มีลูกค้าใช้บริการ




บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า การเดินห้างหรือศูนย์ค้าปลีกในนครโฮจิมินห์ ลดลงถึง 80% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าในเดือน ก.พ. และเดือน มี.ค. ก่อนที่ทางการดำเนินมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมซึ่งเป็นผลให้ห้างร้านหลายแห่งต้องปิดบริการชั่วคราว

เมื่อเดือนก่อน ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ 21 ราย ได้ขอให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีและลดค่าน้ำค่าไฟโดยอ้างถึงยอดขายที่ลดลง และผลสำรวจของหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม พบว่า 82% ของธุรกิจเวียดนามคาดว่ารายได้ของตนเองลดลงกว่าปีก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ผู้ที่มีรายได้ปกติก็รู้สึกไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ชาวโฮจิมินห์รายหนึ่งกล่าวว่า ไม่มีใครรู้ว่าการระบาดระลอกใหม่จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต และผู้คนยังต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรค ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าบริษัทจะไล่คนออก ซึ่งทำให้ตัวเขาเองต้องใช้จ่ายประหยัดขึ้น

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายเวียดนามระบุในรายงานที่ออกเดือนก่อนว่า จีดีพีอาจหดตัวลงอย่างหนักในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ก่อนกลับมาเติบโตอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี หากการระบาดสิ้นสุดช่วงสิ้นปี และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้นหมายความว่าผู้คนจะระมัดระวังเกี่ยวกับการกลับสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ประชาชนในเวียดนามอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค เช่น ตกงาน หรือรายได้ลดลงมากถึง 10.3 ล้านคน.
กำลังโหลดความคิดเห็น