MGR ออนไลน์ -- กัมพูชาแสดงความสนใจรถถังหลัก T-80 พล.ท.ฮุน มาเนต ผู้บัญชาการทหารบกได้เดินทางไปเยี่ยมชมด้วยตนเองขณะเยือนสหพันธ์รัสเซียสัปดาห์นี้ ซึ่งกระทรวงกลาโหมฝ่ายเจ้าภาพรายงานว่า เป็นการเยือน "เพื่อสร้างความคุ้นเคย" กับการฝึก และ การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ของหน่วยรบหน่วยหนึ่งในเขตมอสโก ที่ใช้รถถังรุ่นนี้เป็นกำลังหลัก
เมื่อวันอังคาร 27 มี.ค. พล.ท.ฮุน มาเนต นำคณะไปเยี่ยมชมกองพลรถถังโกโลเวนสกี คันเตมิรอฟสกายา (Golovenki Kantemirovsky) ที่ตั้งอยู่ชานเมืองหลวงของรัสเซีย โดยมี พ.อ.วลาดิมีร์ ซาวาดสกี (Vladimir Zavadsky) นายทหารผู้บังคับกองพัน ทำหน้าที่บรรยายและนำชมการฝึกต่างๆ กระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานในช่วงข้ามวันที่ผ่านมา
ระหว่างการไปเยี่ยมชมถึงที่ตั้งครั้งนี้ คณะของฝ่ายกัมพูชาได้สร้างความคุ้นเคยกับสถานที่ และ ศึกษาโครงสร้างต่างๆเกี่ยวกับการศึกษาอบรม ทั้งได้ชมการฝึกยิงโจมตีด้วยรถถัง T-80U กับยานหุ้มเกราะลำเลียงพล/โจมตี ทั้ง BMP-2A และ BTR-82A และ ชมการฝึกจู่โจมของหน่วยรบทหารราบเคลื่อนที่เร็วอีกด้วย กระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานในเว็บไซต์
"ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นดินของกองทัพราชอาณาจักรกัมพูชา พล.อ.ฮุน มาเนต (หมายเหตุ: ฝ่ายรัสเซียระบุยศเป็นนายพลเอก) กล่าวชื่นชมการฝึกของหน่วยรบดังกล่าวเป็นอย่างสูง ทั้งขอบคุณการต้อนรับอันอุ่นจากผู้บัญชาการกองพลรถถัง" ทั้งนี้เป็นรายงานโดยฝ่ายข่าวมณฑลทหารภาคตะวันตก
ไม่มีการกล่าวถึงการเจรจาหรือการพูดคุยใดๆเกี่ยวกับรถถัง T-80U ที่ไปเยี่ยมชม แต่ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่ากองทัพกัมพูชา มีกำลังมองหารถถังรุ่นใหม่ที่ทันสมัย เพื่อใช้แทน T-54/55 ที่ตกยุคสมัยติดปืนใหญ่ 100 มม. นอกจากนั้นยังเป็นรถถังใช้แล้วที่จัดหาจากสาธารณรัฐยูเครน 90 คันเศษเมื่อปี 2550 หรือ 12 ปีก่อน และ ได้นำออกใช้งานให้เห็น ในกรณีพิพาทกับไทย ที่ชายแดนด้านปราสาทพระวิหารที่ผ่านมา
Accompanying Photos Courtesy Ministry of Defence of the Russian Federation
.
.
การพัฒนายกระดับ "รถถังตกยุค"
ถึงแม้โลกตะวันตกจะเคยปรามาส T-80 เป็นรถถังล้าสมัย แต่โซเวียต/รัสเซียไม่คิดเช่นนั้น ยังคงพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงในขณะนี้
การพัฒนายกระดับ T-80 เริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 แต่โครงการต่างๆถูกยกเลิกไป เมื่อประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจหลังโซเวียตล่มสลาย -- แต่รัสเซียในยุคใหม่ฟื้นขึ้นมาสานต่อ จนกระทั่งกลายเป็น T-80U สุดทันสมัย ติดตั้งระบบเกราะ ERA กับระบบ APS แบบชตาร่า (Shtora) สามารถปล่อยอาวุธนำวิถีจากปืนใหญ่ลำกล้องเกลี้ยง 125 มม.ได้ เช่นเดียวกับรถถังยุคที่ 3 รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน
.
วิดีโอแสดงให้เห็นการปล่อยอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังแบบ 9M119M "รีเฟล็กซ์" (Refleks) จากปืนใหญ่ลำกล้องเกลี้ยง 125 มม. ของ T-80U คันหนึ่ง อวป.ฯ รุ่นนี้ใช้ในรถถังยุคที่ 3 ที่ผลิตในรัสเซียอีกหลายรุ่น -- มีความแม่นยำสูง เป้าหมายในระยะ 5-6 กม.ไม่พลาด. |
โซเวียตออกแบบและผลิต T-80 เพื่อใช้งานในเขตที่มีอากาศหนาวเย็นทางตอนเหนือของประเทศ เป็นรถถังที่ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์ไบน์คันแรกของโลก สามารถติดเครื่องได้ภายใน 1 นาทีภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหลายสิบองศา ขณะที่เครื่องยนต์ดีเซลทั่วไปในยุคนั้น อาจต้องใช้เวลา 30-45 นาทีในการจุดสตาร์ท
T-80 รุ่นแรกถูกนำออกใช้งานเมื่อปี 2519 หรือ 1 ปีหลังสงครามเวียดนามยุติลง -- เกิดหลัง T-64 และ T-72 ของรัสเซียเอง แต่ก่อน M-1 "เอบรามส์" (Abrams) กองทัพสหรัฐ เล็กน้อย
ถึงแม้ว่าแหล่งผลิตของ T-80 จะอยู่ที่โรงงานมาลีเชฟ เมืองคาร์คอฟ สาธารณรัฐยูเครน ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต แต่หลังค่ายคอมมิวนิสต์ใหญ่ล่มสลาย รัสเซียกลายเป็นรัฐที่ได้รับรถถังรุ่นนี้เป็นมรดกตกทอดมามากที่สุด มากกว่ายูเครนที่เคยเป็นฐานการผลิต และ มากกว่ากลุ่มรัฐบริวารยุโรปตะวันออกทุกประเทศ
.
.
ข้อเท็จจริงก็คือ ถึงแม้จะประกอบในยูเครน แต่ราว 80% ของชิ้นส่วนที่ใช้นั้น ไปจากรัสเซีย
การพัฒนายกระดับในยูเครนยังดำเนินต่อมาเช่นกัน จนกระทั่งมาเป็นรุ่น T-80UD ติดเครื่องยนต์ดีเซล 1,000 แรงม้าในปัจจุบัน และ คงจะจำกันได้ว่านี่คือต้นแบบที่พัฒนาออกมาเป็น T-84 "โอปล็อต" (Oplot) และ T-84 Oplot-M ของกองทัพบกไทย และ เป็น T-84 "ยาตากาน" (Yatagan) ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ติดปืนใหญ่ 120 มม. มาตรฐานนาโต้
ส่วนในรัสเซียจนถึงปัจจุบันพัฒนามาขั้นสูงสุด กลายเป็น T-80U มีทั้งเครื่องยนต์ดีเซล 1,000 และ 1,250 แรงม้าให้เลือก ติดระบบอาวุธและระบบป้องกันอันทันสมัยพร้อมสรรพ
นอกจากกองทัพยูเครนกับรัสซียแล้ว ปัจจุบันมี T-80UD และ T-80U ใช้อยู่ในหลายประเทศ ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดได้แก่ปากีสถาน กองทัพบกจีนซื้อไปจำนวนหนึ่งเพื่อวิเคราะห์และศึกษา กองทัพสหราชอาณาจักรซื้ออีกจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปศึกษาเช่นกัน โดยซื้อผ่านบริษัทในประเทศอียิปต์ในยุคหลังสงครามเย็นในราคาประมาณ 2 ล้านดอลลาร์ต่อคัน กองทัพสหรัฐก็ซื้ออีกจำนวนหนึ่งด้วยจุดประสงค์เดียวกัน
ในอดีต T-80 ไม่ได้มีประวัติที่น่าประทับใจมากนัก หากเป็นรถถังเบาที่ทำความเร็วสูง เว็บไซต์แห่งหนึ่งที่เกาะติดนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ของค่ายนี้ระบุว่า T-80 รุ่นหนึ่งเคยทำความเร็วได้ถึง 82 กิโลเมตรต่อชั่วโมง -- เป็นไปตามความเชื่อในยุคสมัยหนึ่งที่ว่า แล่นเร็วกว่าก็มีโอกาสรอดพ้นจากการตกเป็นเป้าของฝ่ายอริมากกว่านั่นเอง แต่ความเร็ว (ด้วยเครื่องยนต์เทอร์ไบน์) ก็ต้องแลกกับระยะปฏิบัติการที่สั้นลง และ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงมาก
.
.
ตามประวัติความเป็นมานั้น รัสเซียสูญเสีย T-80 รุ่นเก่ากว่า 300 คันในสงครามแคว้นเช็คเนียครั้งแรก ซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกันที่ T-80 รุ่นหนึ่งถูกนำออกใช้ในการสู้รบจริง และนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า T-80 ไม่เหมาะอย่างยิ่งกับสงครามในเขตเมืองและการต่อสู้ระยะใกล้ตัว -- ภายหลังจึงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จนกระทั่งกลายมาเป็น T-80U ที่กล่าวมาแล้ว
กัมพูชากลายเป็นเพื่อนบ้านของไทยแห่งล่าสุด ที่กำลังหันไปหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากค่ายรัสเซีย หลังจาก สปป.ลาว เพิ่งได้รับมอบทั้งรถถังหลัก T-72B1 และ เครื่องบินฝึก/โจมตีขนาดเบา แบบ Yak-130 จากค่ายนี้ปลายปีที่แล้ว -- ส่วนเวียดนามเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาก็เพิ่งได้รับ T-90M จากรัสเซียเป็นล็อตที่สอง จากจำนวนที่จัดหา 64 คัน
ต้องไม่ลืมอีกเช่นกันว่าสองฝ่ายเคยมีสัมพันธ์อันแนบแน่นต่อกันมาก่อน โดยโซเวียตเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งเวียดนามและรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของกลุ่มฮุนเซน-เจีย ซิม-เฮง สัมริน ในช่วงหลังยึดอำนาจจากระบอบเขมรแดงเมื่อปี 2522 และ ตลอดเวลา 10 ปีของสงครามกลางเมือง
ความสัมพันธ์ในยุคใหม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป -- พล.อ.เตียบัญ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมไปเยือนรัสเซียหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงกลาโหมรัสเซียเคยไปเยือนกัมพูชามาหลายคณะเช่นกัน รวมทั้งมีการเซ็นเอกสารความตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศระหว่างกันอีกด้วย
ถึงแม้ว่าจะอยู่ไกลในทางภูมิศาสตร์ แต่รัสเซียเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทในย่านนี้อีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบอาเซียน กลายเป็นพลังการถ่วงดุลสำคัญในบรรดาชาติมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.