MGR ออนไลน์ -- กองทัพสาธารณรัฐยูเครนจะนำรถถังรุ่นแรกที่ติดปืนใหญ่ 120 มม. ซึ่งเป็นมาตรฐานนาโต้ออกโชว์ในพีธีสวนสนามวันวันเอกราช ศุกร์ 24 ส.ค.นี้ จะเป็นครั้งแรกที่โลกจะได้เห็น T-84-120 "ยาตากาน" (Yatagan) ของจริง นับตั้งแต่เปิดตัวต้นแบบเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้นักวิจารณ์ด้านกลาโหมค่ายตะวันตกจับตาอย่างใกล้ชิด บางคนถึงกับบอกว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบว่า วันเวลาที่ยูเครนจะบูรณาการระบบอาวุธของตน เข้ากับของโลกตะวันตก หลังจากสัมพันธ์กับรัสเซียถึงขั้นแตกหัก ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
รัฐวิสาหกิจยูโครโบรอนพรอม (Ukroboronprom) ในสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่กำกับดูแลทั้งการผลิตและการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ รายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ทั้งยังพาดหัวชื่อเรื่องอย่างมีปริศนาว่า เป็นการ "ส่งมอบให้แก่กองทัพ" ถึงแม้จะยังไม่เคยปรากฎข่าวคราวว่า กองทัพหรือกระทรวงกลาโหมยูเครน ได้เคยสั่งจัดหารถถังรุ่นนี้หรือรุ่นไหนๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ยาตากานสร้างโดยสำนักออกแบบและผลิตเครื่องจักรโมโรซอฟ (Kharkov Morozov Machine Building Design Bureau) แห่งเมืองคาร์คอฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ที่อยู่ตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูโครโบรอนพรอม วิศวกรได้ค้นคิดแบบระบบสายพานลำเลียงใหม่ ทำให้ T-84-120 สามารถป้อนกระสุนให้แก่ปืนใหญ่ 120 มม.ได้ รัฐวิสาหกิจกลาโหมระบุ
ภายในของ T-84-120 ไม่ได้แตกต่างไปจาก T-84 โอปล็อต BT รุ่นแรก และ T-84 โอปล็อต-M หรือ "โอปล็อต-T" ที่ผลิตให้แก่กองทัพไทย ข้างในแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน (Compartment) ส่วนบัญชาการอยู่หน้าสุด ส่วนสู้รบ (เก็บกระสุน/อาวุธปล่อยนำวิถี) อยู่กลาง และ เครื่องยนต์อยู่ท้าย กั้นระหว่างห้องแน่นหนา ทำให้พลรถถังทั้ง 3 คนมีโอกาสรอดสูงขึ้นกรณีที่เกิดระเบิดจากภายใน
"การใช้กระสุนของนาโต้ เป็นการขยายขอบเขตของกระสุนที่ T-84-120 สามารถใช้ได้ ไม่เพียงแต่กระสุน (120 มม.) ที่ยูเครนผลิตเองเท่านั้่น หากยังรวมถึงกระสุนที่ผลิตโดยพันธมิตรชาติอื่นๆด้วย" รัฐวิสาหกิจกลาโหมระบุ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับรถถังรุ่นนี้อีก
.
.
.
แต่เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า KMMDB ทำคันต้นแบบออกมาเมื่อปี 2543 ติดปืนใหญ่ 120 มม.เพื่อให้ตุรกีซึ่งเป็นชาติภาคีนาโต้ ที่กำลังจัดหารถถังรุ่นใหม่ได้พิจารณา -- ชื่อ "ยาตากัน" หมายถึงดาบของชาวเติร์ก -- แต่แล้วตุรกีก็ไม่เลือก T-84-120 และ ไม่มีข่าวคราวว่า มีการพัฒนารถถังติดปืน 120 มม.ต่อมาอีก ในขณะที่ยูเครนวุ่นอยู่กับกลุ่มแยกดินแดนในจังหวัดภาคตะวันออกที่มีรัสเซียหนุนหลัง รวมทั้งไม่เคยมีข่าวว่ากระทรวงกลาโหมของยูเครนเองจะให้ความสนใจรถถังรุ่นนี้
การติดปืน 120 มม.ทำให้รถถังยูเครนสามารถใช้กระสุนปืนใหญ่รถถังของค่ายตะวันตกได้ทุกชนิด และ สามารถใช้อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังแบบ 9K119M "รีเฟล็กส์" (Refleks) ที่ใช้กับปืนใหญ่ 125 มม.ลำกล้องเกลี้ยงของโซเวียต ที่ยูเครนผลิตเอง เพียงดัดแปลงให้เป็นรุ่นพิเศษขนาด 120 มม. เพื่อ "ปล่อย" หรือ ยิงผ่านปืนลำกล้องเกลี้ยง 120 มม.ที่เล็กลงได้ -- อวป.นำวิถีรุ่นนี้รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า AT-11 "สไนเปอร์" (Sniper) ในระบบของนาโต้
ยังไม่ทราบรายละเอียดว่า ได้มีการเปลี่ยนขนาดเครื่องยนต์จากรุ่นเดิมที่ใช้ในคันต้นแบบหรือไม่อย่างไร ทราบกันแต่เพียงว่าของเก่านั้นเป็นเครื่องดีเซลแรงสูง 1,200 ซีซี รุ่นเดียวกับของ Oplot BT ซึ่งทำให้ T-84-120 เป็นรถถังขนาด 48 ตันเมื่อบรรทุกเต็มกำลัง และ สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่าๆ กับ Oplot BT แต่ขนาดเล็กและแล่นช้ากว่า T-84 Oplot-M เล็กน้อย
สเป็กของโรงงานระบุว่า หากเทียบรุ่นต่อรุ่นตันต่อตันแล้ว T-84-120 มีกำลังโหลดถึง 26 แรงม้าต่อตัน -- สูงกว่า T-64 T-72 และ T-90 ของรัสเซีย รวมทั้งรถถังของนาโต้บางรุ่นอีกด้วย ซึ่งเป็นกำลังแรงที่ได้เปรียบในชั่วโมงสู้รบ
.
.
ยาตากานนับเป็น T-84 รุ่นล่าสุดที่ได้รับการพัฒนามาเป็นรถถังยุคที่ 4+ อย่างเต็มภาคภูมิ ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ระบบควบคุมใหม่ และระบบปืนใหญ่เสถียรใหม่ทั้งหมดชนิดเดียวกันกับที่ไรน์เมทาล (Rheinmetall Group AG) แห่งเยอรมนีผลิตให้รถถังของนาโต้ -- T -84-120 ยังมีระบบป้องกันหลายชั้น ทั้งเกราะระเบิดปฎิกิริยา หรือ ERA (Explosive Reactive Armour) และ ระบบไดนามิคโปรเท็คชั่น ซึ่งก็คือ ระบบ APS (Active Protection System) ที่เคยรู้จักกันในชื่อ "ไนฟ์" (Knife/มีด)
นอกจากนั้่นยังติดตั้ง "ตาอินฟราเรด" ชตอร่า-1 (Shtora-1/มีความหมายว่า "ทำให้ตาบอด") ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่งสัญญาณออกไปก่อกวน การนำวิธีของ อวป.ต่อสู้รถถังที่ฝ่ายอริยิงเข้าใส่ ให้รวนเร และ พลาดเป้าหมาย อันเป็นการป้องกันด่านแรก -- เป็นระบบเดียวกันกับที่รัสเซียใช้ติดตั้งรถถังรุ่นต่างๆในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เพียงข้ามชั่วโมงหลังจากยูโครโบรอนพรอมโพสต์ในเว็บไซต์ ข่าวนี้ได้แพร่สะพัดไปทั่วโลก ตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ของเหล่านักสังเกตการณ์ โดยหลายคนกล่าวว่านี่เป็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญให้เห็นว่า ยูเครนได้มาถึงทางแพร่งและกำลังเดินไปยังทิศตะวันตก -- ซึ่งหมายถึงกลุ่มนาโต้
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ยูเครนได้ผ่านความไม่สงบมากว่า 20 ปี เริ่มจากความปั่นป่วนภายในหลังเศรษฐกิจพังพินาศ อันเป็นผลพวงจากค่ายโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 2534 ที่ได้เกิดรัฐอิสระใหม่ๆ ขึ้นมาทันทีกว่า 10 สาธารณรัฐ จากนั้่นก็เข้าสู่สงครามกับกลุ่มแยกดินแดนในดอนบาส (Donbass) ทางชายแดนตะวันออก ทำให้ยูเครนไม่มีโอกาสได้พัฒนาอาวุธ ถึงแม้ในยุคโซเวียตจะเคยเป็นแหล่งผลิตยุทโธปกรณ์ รวมทั้งเรือรบ เครื่องบินรบ เครื่องบินขนส่ง และ ยานหุ้มเกราะต่างๆ มากมายก็ตาม
.
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า เพียงไม่กี่ปีหลังการสู้รบในดอนบาส ยูเครนสูญรถถังไปไม่ต่ำกว่า 200 คัน โดยส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของ อวป.นำวิถีที่รัสเซียส่งให้ฝ่ายกบฏใช้ แต่ผู้ผลิตในยูเครนก็ยังไม่เคยสร้างรถถังรุ่นใหม่จริงๆ ออกมา มีเพียงพัฒนารุ่นเก่า ซ่อมแซมหรือดัดแปลงให้ใช้งานได้ -- ยกเว้นเพียงการพัฒนา T-84 Oplot BT และ สร้างต้นแบบ T-84-120 เมื่อปี 2543 กับการอัปเกรด T-62 "บูลัต" (Bulat) ในช่วงปีหลังๆ
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม กองทัพยูเครนเคยบรรจุประจำการ T-84 Oplot BT เพียง 10 คันเท่านั้น และ สูญเสียไป 4 คันในสงครามชายแดน จึงเหลือเพียง 6 คันและไม่มีฝ่ายใดทราบสถานะในปัจจุบัน นอกจากนั้นกองทัพยูเครนยังไม่เคยสั่งซื้อ T-84 Oplot-M แม้แต่คันเดียว ผลิตออกมาเพียง 49 คัน เป็น "โอปล็อต-T" ตามออร์เดอร์ของกองทัพไทย และ ยูโครโบรอนพรอมประกาศเมื่อเดือน มี.ค.ว่า ได้ส่งมอบลอตสุดท้ายให้จนครบตามจำนวนแล้ว -- กลายเป็นรถปืน 125 มม.รุ่นล่าสุด ขณะที่ T-84-120 เป็นรถปืน 120 มม. รุ่นแรกสุด
สงครามแยกดินแดนสร้างความบาดหมางจนยากที่จะเยียวยา ทำให้ยูเครนกลายเป็นคนละฝ่ายคนละค่ายกับรัสเซียชัดเจน และ การที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียเข้าเป็นของตนเองเมื่อต้นปี 2557 ก็ยิ่งทำให้อดีตสหายร่วมรบ ร่วมค่ายใหญ่โซเวียตด้วยกันเมื่อก่อน หันหลังให้กันเป็นคนละฝ่ายอย่างถาวร
สหรัฐกับโลกตะวันตกเชื่อว่า ไม่ช้าก็เร็วยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของนาโต้ เพื่อหาหลังพิงป้องกัน "การคุกคามของรัสเซีย" นั่นเอง.