xs
xsm
sm
md
lg

เรือพิฆาตแฝดญี่ปุ่นเยือนกัมพูชาอาวุธเพียบ แม้ฐานะเปลี่ยนไปกลายเป็นเรือฝึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<FONT color=#00003>Training Vessle-3513 และ 3518 ที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ 28 ก.พ.2562 ซึ่งเมื่อก่อนคือเรือ DD-133 กับ DD-131 วันนี้ฐานะเปลี่ยนไปแต่ยังติดเขี้ยวเล็บเพียบ ญี่ปุ่นต่อเรือพิฆาตอเนกประสงค์ขนาด 4,000 ตันชั้นนี้ 12 ลำ ในเวลาเพียง 5 ปี เพื่อรับมือเรือดำน้ำกับเรือรบโซเวียตในทศวรรษ 1970-1980 -- เคยมีเรือชั้นฮัตสุยูกิแบบเดียวกันนี้ 1 ลำมาเยือนไทยต้นปี 2558 พร้อมเรือพิฆาตที่ใหม่กว่าและใหญ่กว่าอีกหนึ่งลำ. Courtesy Ministry of Information. </b>

MGR ออนไลน์ -- กองกำลังป้องกันทางทะเลแห่งญี่ปุ่นส่งเรือ 2 ลำเยือนสันถวไมตรีกัมพูชาสัปดาห์นี้ การเยือนเพิ่งสิ้นสุดลงวันพฤัสบดี 28 ก.พ.ที่ผ่านมา และ เป็นครั้งแรกที่เปิดเผยให้เห็นรูปโฉมเรือพิฆาตแฝด ที่เป็นสองในสี่ลำของชั้นเดียวกัน ที่ถูกเปลี่ยนภารกิจไปใช้เป็นเรือรบสำหรับการฝึก นอกจากนั้่นมีอีก 1 ลำในชั้นเดียวกันนี้ เคยมาเยือนเชื่อมสัมพันธ์กับไทยเมื่อ 4 ปีก่อนอีกด้วย โดยเข้าแวะจอดที่ท่าเรือคลองเตยเป็นเวลาหลายวัน

ภาพที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวทางการกัมพูชาช่วงข้ามวันที่ผ่านมา ได้เปิดเผยให้เห็นเป็นครั้งแรก สภาพของเรือพิฆาตชั้นฮัตสุยูกิ (Hatsuyuki-class) ที่ยังคงติดตั้งอาวุธหลักครบครัน ทั้งปืนใหญ่เรือ ปืนกลยิงเร็วระยะประชิด "ซีวิส" (CWIS) ระบบอาวุธปล่อยนำวิถียิงเรือแบบฮาร์พูน (Harpoon) ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานซีสแปร์โรว์ (SeaSparrow SAM) ระบบจรวดต่อต้านเรือดำน้ำ "แอสร็อค" (ASROC) -- เพียงแต่ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ใช้เป็นเรือรบสำหรับการฝึกเท่านั้น

สิ่งเดียวที่บ่งบอกให้ทราบว่า เป็นเรือสำหรับการฝึกก็คือรหัส "TV" ที่เปลี่ยนไป จากที่เคยใช้ "DD" กับหมายเลขใหม่ 4 หลัก -- จากเพียง 3 หลักที่ใช้สำหรับเรือพิฆาต

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร อดีตเรือรบทั้งสองลำก็ยังคงดูน่าเกรงขาม -- นี่คือเรือพิฆาตอเนกประสงค์ขนาดเล็ก 2,950 ตันมาตรฐาน (บรรทุกเต็ม 4,000 ตัน) ติดอาวุธปล่อยนำวิถี "ตั้งแต่หัวจดท้าย" ทำหน้าที่หลากหลายภารกิจ ทั้งสงครามผิวน้ำ สงครามใต้น้ำ และต่อสู้อากาศยาน เรือยาว 130 เมตร กว้าง 13.6 ม. ติดเครื่องยนต์ก๊าซเทอร์ไบน์ที่ทรงพลังพร้อมมีสำรองอีก 1 ชุด สามารถทำความเร็วได้ถึง 30 นอต หรือ 56 กม./ชม. ถ้าเป็นนักกีฬาก็ต้องถือเป็นระดับนักวิ่งลมกรด

ตามข้อมูลของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลแห่งญี่ปุ่น (Japan Maritime Self-Defense Force) เรือฮัตสุยูกิ ติดปืนใหญ่ยิงเร็ว 76 มม.โอโตเมลารา (OTO Melara) ปืนกลยิงเร็วระยะประชิด 20 มม. "ฟาลานซ์" (PhalanX) ขนาด 20 มม. จำนวน 2 ชุด อวป.นำวิถีฮาร์พูน บนท่อยิงแบบ 4 ท่อจำนวน 2 ชุด (ลำแรกๆ ติดท่อยิงชุดละ 2 ท่อ) อวป.นำวิถีซีสแปร์โรว์ (RIM-7) 8 ท่อยิง (4x2) จำนวน 1 ชุด จรวดแอสร็อค (RUR-5 Anti-Submarine Rocket) 8 ท่อยิง 1 ชุด และ มีท่อยิงตอร์ปิโด 324 มม.ชุด 3 ท่อยิงจำนวน 2 ชุด
.
ปืนใหญ่ยิงเร็ว 76 มม.โอโตเมลารายังอยู่ จรวดแอสร็อค 8 ท่อยิง กับ ปืนกลยิงเร็วระยะประชิดฟาลันซ์ ซีวิส 20 มม.ก็ยังอยู่. Courtesy Sihanoukville Auotonomous Port.
.
อยู่ใต้ท่อยิง อวป.นำวิถีฮาร์พูน เป็นท่อปล่อยตอปิโด 324 มม.แบบ 3 ท่อชุด ติดตั้งทั้งสองข้างรวมเป็น 2 ชุด 6 ท่อ สำหรับไล่ล่าเรือดำน้ำโซเวียตเมื่อก่อน. Courtesy Freshnews Online.
.
ท้ายเรือยังมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์อีก 1 ลำ ใช้ได้ทั้งระดับ SH-3H "ซีคิง" (Sea King) และ H-60 หรือ "ซีฮอว์ค" เวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่ผลิตโดยมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสตรี

เรือเซโตยุกิ (Setoyuki,TV-3518) กับเรือชิมายุกิ (Shimayuki, TV-3515) เข้าจอดเทียบท่าสีหนุวิลล์ ริมทะเลอ่าวไทยของกัมพูชา ตอนเช้า 25 ก.พ. พร้อมลูกเรือรวมกันกว่า 300 คน เป็นการเริ่มต้นการเยือนเชื่อมความสัมพันธ์เป็นเวลา 4 วัน ซึ่งในระหว่างนี้ผู้บังคับบัญชาได้เข้าเยี่ยมคำนับพบสนทนากับผู้ว่าราชการจังหวัดพระสีหนุ เข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.เตีย วิญ (Tea Vinh) ผู้บัญชาการทหารเรือกัมพูชา หารือเกี่ยวกับความร่วมมือและการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งเยี่ยมชมฐานทัพเรือเรียม (Ream/ราม) ของฝ่ายเจ้าบ้าน

ลูกเรือยังได้ขึ้นบกเดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญที่น่าสนใจหลายแห่งรวมทั้งอนุสรณ์สถานสำหรับพลเมืองญี่ปุ่นที่ตกเป็นเหยื่อของระบอบเขมรแดง พิพิธภัณสถานแห่งชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง คณะผู้แทนจากเรือรบญี่ปุ่นทั้งสองลำ ยังได้เข้าวางพวงมาลา ที่อนุสาวรีย์เอกราชในกรุงพนมเปญอีกด้วย สำนักข่าวทางการกัมพูชารายงาน

กำหนดการเยือนโดยเรือทั้งสองลำ ประกาศล่วงหน้ามาเป็นเวลานาน โดยสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา และ ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล หรือ กองทัพเรือแห่งแดนอาทิตย์อุทัยส่งเรือรบเยือนประเทศนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ญี่ปุ่น ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนมิตรในย่านเอเชียแปซิฟิกให้มากยิ่งขึ้น

ญี่ปุ่นเป็นอีกชาติหนึ่งที่ให้ทั้งเงินกู้ระยะยาวและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เสมอมา รวมมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ ตลอดหลายสิบปีมานี้ เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของกัมพูชา โดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุนเซน
.
อปว.นำวิถียิงเรือฮาร์พูน 4 ท่อยิง ยังอยู่ และ อปว.นำวิถีต่อสู้อากาศยานซีสแปร์โรว์ท่อแฝด 4x2 ก็ยังอยู่ครบ. Courtesy Sihanoukville Auotonomous Port.
.
นั่นไง 4 ท่อยิง 4x2 = 8 ข้อมูลกองทัพเรือญี่ปุ่นระบุว่า 4 ลำแรกของชั้นฮัตสุยูกิ ติดท่อยิงฮาร์พูนแบบ 2x2 = 4 ท่อเท่านั้น แต่ไปเพิ่มท่อปล่อยตอปิโด เนื่องจากเน้นภารกิจปราบเรือดำน้ำนั่นเอง.
.
ท่อยิง อวป.นำวิถีต่อสู้อากาศยาน RIM-7 ซีสแปร์โรว์ 4x2 = 8 ท่อ ติดตั้งส่วนท้ายเรือ ชั้นที่อยู่ใต้ลานจอด-ห้องเก็บเฮลิคอปเตอร์ลงไป.
.
ส่วนในด้านการทูตการทหารนั้น ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา กองทัพเรือญี่ปุ่นส่งเรือพิฆาตหลายรุ่น เรือดำน้ำสำหรับฝึกรุ่นหนึ่ง เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์กับเรือพิฆาต ไปเยือนฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นมิตรประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใกล้ที่สุด ปีเดียวกันเรือพิฆาตขนาดใหญ่อีก 2 ลำ และ เป็นสองชั้นที่ต่างกัน ไปเยือนฟิลิปปินส์ เวียดนาม ก่อนไปแวะจอดที่ท่าเรือสีหนุวิลล์แห่งเดียวกันนี้

หลายปีมานี้ญี่ปุ่นยังส่งเรือรบข้ามมหาสมุทรไปร่วมปฏิบัติปราบปรามโจรสลัด ที่ออกปล้นสะดมเรือบรรทุกน้ำมัน กับเรือสินค้าของประเทศต่างๆ ในทะเลชายฝั่งประเทศโซมาเลีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นไม่เคยกระทำมาก่อนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

*ประวัติการเปลี่ยนภารกิจ*

เรือชั้นฮัตสุยูกิ เป็นเรือพิฆาตอเนกประสงค์ติดอาวุธปล่อยนำวิถีขนาด 4,000 ตัน ผลิตโดยกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ของญี่ปุ่นหลายกลุ่ม โดยมีมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสตรีเป็นแกนนำ ทยอยบรรจุระหว่างปี 2522-2527 ต่อออกมาทั้งหมด 12 ลำ ในนั้นมี 4 ลำที่ถูกทยอยปรับเปลี่ยนภารกิจไปเป็นเรือรบเพื่อการฝึก

หลายปีมานี้กองทัพเรือญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนเรือรบชั้นอื่นๆ อีกหลายลำ ไปใช้ในภารกิจฝึกฝนบุคคลากรเช่นเดียวกัน

สำหรับเรือ 3518 กับเรือ 3513 ที่ไปเยือนกัมพูชาสัปดาห์นี้ เป็นลำที่ 10 และ 12 ของเรือพิฆาตชั้นนี้ ที่เมื่อครั้งยังทำหน้าที่เป็นเรือรบ เคยใช้รหัสในทะเบียนเป็น JMDS DD-131 กับ JMDS DD-133 ตามลำดับ
.
ดูกันใกล้ๆ RIM-7 ขณะ ปล่อย ออกจากท่อยิง 4x2 ติดตั้งบนเรือบรรทุกเครื่องบินอับราฮัม ลินคอล์น (USS Abraham Lincoln, CVN 72) ภาพแฟ้มกองทัพเรือสหรัฐ.
.
ข้อมูลของกองทัพเรือญี่ปุ่นระบุว่า เรือเซโตยูกิถูกเปลี่ยนไปใช้เป็นเรือฝึกเมื่อปี 2555 -- ส่วนเรือชิมายูกิเปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2542 -- ตัวเลข 3518 กับ 3513 จึงบอกการเรียงลำดับใหม่ของ (อดีต) เรือพิฆาตทั้งสองลำ หลังจากเปลี่ยนสังกัดใหม่ คือ กองเรือสำหรับการฝึก ประจำที่ฐานทัพเรือคุเร (Kure) จังหวัดฮิโรชิมา (Hiroshima)

ก่อนหน้านี้ทั้งสองลำเคยประจำที่เซซาโบ (Sesabo) จ.นางาซากิ (Nagasaki) ทางทิศตะวันตกของเกาะคิวชู (Kyushu) ซึ่่งเป็นฐานทัพเรือใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งและยังเป็นรังใหญ่ของกองทัพเรือสหรัฐ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลจีนตะวันออกอีกด้วย

เรือพิฆาตชั้นฮัตสุยูกิอีก 2 ลำที่ถูกนำไปเป็นเรือฝึกก่อนหน้านี้ได้แก่ เรือยามายูกิ (Yamayuki, TV-351 หรือ JMDS DD-129 เมื่อก่อน) เป็นลำที่ 8 ของชั้น ถูกมอบหมายหน้าที่ใหม่ในเดือน เม.ย.2559 ซึ่งเป็นลำล่าสุด -- อีกลำหนึ่งคือเรือชิรายูกิ (Shirayuki, TV-3517/หรือ JMDS-123 เมื่อก่อน) ซึ่งเป็นลำที่สองของชั้น ถูกเปลี่ยนภารกิจในเดือน มี.ค.2554 แต่ปลดระวางไปแล้วเมื่อปี 2559

อีกลำหนึ่ง คือเรือมัตสุยูกิ (Matsuyuki JMDS DD-130) ซึ่งเป็นลำที่ 9 ของชั้นฮัตสุยูกิ ปัจจุบันยังคงประจำการที่ฐานทัพเซซาโบ -- เรือลำนี้ เคยมาเยือนไทยในเดือน ก.พ.2558 พร้อมกับเรือยูกิริ (JMDS Yugiri DD-153) ซึ่งลำหลังเป็นหนึ่งในบรรดาเรือพิฆาตติดอาวุธปล่อยนำวิถีชั้นอาซากิริ (Asagiri-class) ขนาด 4,900 ตัน ที่ทยอยบรรจุระหว่างปี 2529-2532 -- นั่นคือในช่วง 3 ปี ต่อออกมาทั้งหมด 8 ลำ แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมต่อเรือรบในญี่ปุ่น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นชาติที่มีกองทัพเรือใหญ่โตติดอันดับต้นของโลก

อย่างไรก็ตาม -- เรือพิฆาตชั้นอาซากิริก็ไม่ต่างกัน -- เรือลำที่สองของชั้น และ เรือต้นของชั้น ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นเรือฝึกก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น