xs
xsm
sm
md
lg

ลาวระดมกำลังค้นหาผู้รอดชีวิตเหตุการณ์เขื่อนแตก คาดยอดดับเพิ่มหลังน้ำลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - กองกำลังทหารเข้าค้นหาผู้รอดชีวิตในพื้นที่ห่างไกลทางตอนใต้ของลาวในวันนี้ (26) เป็นเวลา 3 วัน หลังเขื่อนแตกที่ส่งผลให้มวลน้ำมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่เกษตร และหมู่บ้านหลายแห่ง ขณะที่หน่วยกู้ภัยเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยไร้บ้านหลายพันคน

ขนาดของภัยพิบัติครั้งนี้ยังไม่แน่ชัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งรายงานจากสื่อทางการของประเทศที่ยังไม่เพียงพอและเป็นเพียงข้อมูลคร่าวๆ

สำนักข่าวลาวระบุยืนยันยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดที่ 27 คน และสูญหายอีก 131 คน หลังเขื่อนแตกเมื่อวันจันทร์ (23) ซึ่งเป็นเขื่อนเสริมของโครงการเขื่อนไฟฟ้าในแขวงอัตตะปือ

รายงานก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจะสูงขึ้นมาก และเมื่อวันพุธ (25) หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ส รายงานว่า ประชาชนมากกว่า 3,000 คน กำลังรอความช่วยเหลือ ด้วยระดับน้ำที่ท่วมสูงทำให้หลายคนต้องอาศัยอยู่บนต้นไม้ หรือหลังคาบ้าน ท่ามกลางซากสัตว์ตายที่ลอยอยู่ในน้ำ

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุว่า พบศพเพิ่ม 1 ศพในวันนี้ และคาดว่าจะพบมากขึ้นเมื่อระดับน้ำลดลง เจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยชื่อผู้นี้ยังระบุว่า ชาวบ้านได้รับแจ้งเตือนราว 3-4 ชั่วโมงก่อนเขื่อนแตก และมีเพียงไม่กี่คนที่คาดว่าระดับน้ำจะสูงเช่นนี้

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติระบุว่า ถนนและสะพานเสียหาย มีเพียงเรือและเฮลิคอปเตอร์เท่านั้นที่ใช้เดินทางในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยถูกใช้เป็นศูนย์อพยพ และราษฎรราว 1,300 ครอบครัวต้องการเต็นท์เพื่อใช้เป็นที่พัก

บนถนนสายที่มุ่งไปยังเมืองสะหนามไซ รอยเตอร์พบรถบรรทุกสิ่งของช่วยเหลือรวมทั้งน้ำสะอาด และผ้าห่มสำหรับผู้ประสบภัยที่ไร้บ้าน ซึ่งรัฐบาลให้ตัวเลขไว้ที่ 3,060 คน ทีมกู้ภัยและบรรเทาทุกข์จากทั่วเอเชียมุ่งหน้าไปยังแขวงอัตตะปือ ที่มีชายแดนด้านตะวันออกติดกับเวียดนาม และด้านใต้ติดกับกัมพูชา

ลาว หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาคเอเชีย มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียผ่านการก่อสร้างเขื่อนหลายแห่ง โดยรัฐบาลลาวพึ่งพาผู้พัฒนาต่างชาติเกือบทั้งหมดในการก่อสร้างเขื่อน ภายใต้การสัมปทานเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ลาว ก่อสร้างเขื่อนเสร็จสิ้นแล้ว 11 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 11 แห่ง และมีแผนที่จะก่อสร้างอีกหลายสิบแห่ง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนย้ำเตือนถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และมนุษย์จากการก่อสร้างเขื่อน รวมทั้งความเสียหายต่อระบบนิเวศที่เปราะบางของแม่น้ำในภูมิภาค

เขื่อนที่แตกนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานเซเปียน-เซน้ำน้อย มูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทของลาว ไทย และเกาหลีใต้ ซึ่งเขื่อนดินปิดกั้นช่องเขาส่วน D เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเขื่อนหลัก 2 แห่ง และเขื่อนเสริม 5 แห่ง

หุ้นส่วนหลักของโครงการคือ บริษัทเอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ระบุว่า บริษัทกำลังร่วมมือกับรัฐบาลลาวเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และระบุว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องเป็นเหตุให้เขื่อนแตก

ใน จ.สะตรึงเตรง ของกัมพูชา ประชาชนเกือบ 1,300 ครอบครัวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่มาจากเขื่อนลาวเช่นกัน และต้องอพยพไปยังพื้นที่สูง

“ผู้คนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบราว 7-10 วัน จนน้ำทั้งหมดไหลลงสู่แม่โขง” แก้ว วี โฆษกประจำศูนย์เพื่อการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุ.













กำลังโหลดความคิดเห็น