รอยเตอร์ - นักเคลื่อนไหวเรียกร้องการพิจารณาตรวจสอบอย่างละเอียดกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าในลาว หลังเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแตกจนทำให้มวลน้ำจากเขื่อนทะลักท่วมบ้านเรือนราษฎรอย่างฉับพลัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 26 คน
ประชาชนมากกว่า 3,000 คน ต้องการความช่วยเหลือในพื้นที่ห่างไกลทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งมีอย่างน้อย 7 หมู่บ้านจมอยู่ใต้น้ำขุ่นโคลน
เจ้าหน้าที่กู้ภัยพยายามเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแขวงอัตตะปือ ซึ่งนักวิเคราะห์ และนักเคลื่อนไหวได้เรียกร้องการตรวจสอบอย่างละเอียด และความรับผิดชอบในโครงการเขื่อนไฟฟ้าจำนวนมากที่วางแผนก่อสร้างในประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลกประเทศนี้
“หลายคนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแตกนี้ เดิมเป็นผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องย้ายที่อยู่อาศัย หรือสูญเสียวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และผลกระทบอื่นๆ อันเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน” มัวรีน แฮร์ริส จากองค์การแม่น้ำนานาชาติ ระบุ
“เรื่องที่น่าเศร้าสลดนี้ยิ่งตอกย้ำความทุกข์ทรมานของพวกเข าและเน้นย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อความปลอดภัย นอกเหนือไปจากประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสังคม” แฮร์ริส กล่าว
เจ้าหน้าที่ในลาวกำลังวางเดิมพันกับโครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อสร้างการลงทุนในประเทศด้วยมีเป้าหมายที่จะเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย สำหรับเขื่อนที่แตกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย
ประชาชนมากกว่า 2,300 คน ต้องอพยพที่อยู่อาศัยเดิมไปตั้งถิ่นฐานใหม่ เพื่อเปิดทางให้แก่การสร้างแหล่งเก็บน้ำ เพิ่มขึ้นจาก 8,700 คน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการ ตามการประเมินของผู้พัฒนาในปี 2556
เขื่อนมากกว่า 12 แห่งที่วางแผนก่อสร้างโดยนักลงทุนต่างชาติ อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ลาวต้องส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ผลประโยชน์จากโครงการส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่กับคนในพื้นที่ แต่เป็นความเสียหายต่อสังคมสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนท้องถิ่นต้องแบกรับ มิก้า อินกอลล์ จากศูนย์เพื่อการพัฒนาและสิ่งแวดล้อม กล่าว
อินกอลล์ ยังระบุว่า การกำกับดูแลด้านกฎระเบียบและการตรวจสอบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการเหล่านี้มักไม่เพียงพอ ขณะที่หน่วยงานรัฐท้องถิ่นและชุมชนที่เห็นถึงผลกระทบในแต่ละวันก็มีส่วนร่วมน้อย
“ทีมงานของรัฐบาลมักไม่มีทุนสนับสนุน และไม่มีความสามารถมากพอที่จะดำเนินการตรวจสอบอย่างเหมาะสม และทำให้ต้องพึ่งพาความชำนาญ และความรับผิดชอบของนักลงทุน” อินกอลล์ กล่าว
กลุ่มสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมยังย้ำเตือนถึงความเสียหายของสิ่งแวดล้อมและมนุษย์จากการเร่งก่อสร้างเขื่อน ที่รวมทั้งความเสียหายต่อระบบนิเวศที่บอบบางของแม่น้ำในภูมิภาคด้วย.