MGR ออนไลน์ -- หลายคนที่ไปเที่ยวชมปราสาทนครวัดในช่วง 10-20 ปีมานี้อาจจะไม่เคยสังเกตุเลยก็ได้ว่า นอกเหนือจากรูปสลักนางอัปสรสวรรค์กับรูปสลักนูนต่ำที่บอกล่าเรื่องราวต่างๆ มากมายแล้ว ยังมีสิ่งแปลกปลอมปะปนอยู่ด้วยอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งตัวอักษรต่างชาติ ทั้งที่เขียนเอาไว้ด้วยหมึกหรือสีถาวรลบออกไม่ได้ กับอีกจำนวนมากสลักลงบนผนังหิน ภายในระเบียงคดด้านหนึ่งของปราสาทอายุ 1,000 ปี และ เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ชาวเขมรออนไลน์จำนวนหนึ่งร้องเรียนกล่าวหาว่า องค์การอัปสราซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรงไม่เอาใจใส่ ปล่อยปะละเลยให้พวกมือบอนจากต่างแดน ละเลงอะไรต่างๆ ลงไปบนผนังปราสาทศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งไม่ใส่ใจติดตามหาผู้กระทำผิดไปลงโทษตามกฎหมายอีกด้วย ปล่อยให้คนกระทำย่ำยีมรโดกโลกอันล้ำค่าของชาวกัมพูชาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผู้กระทำผิดมีทั้งชาวจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม รวมทั้ง "พวกสยาม" ด้วย
นั่นคือประเด็นร้อนที่ถูกจุดขึ้นมาโดยชาวเขมรรุ่นใหม่ ที่เติบโตขึ้่นมาและไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชนชาติ ทำให้หน่วยงานรับผิดชอบต้องออกชี้แจงให้ความกระจ่างอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
เฟซบุ๊กหลายแห่งได้แชร์รูปภาพต้นตอ ที่มีคนถ่ายจากผนังปราสาทนครวัด แสดงให้เห็นอักษรภาษาจีนที่สลักอยู่บนผนังหิน ภาพอีกจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็น การสลักอักษรต่างด้าวลงบนเสาด้านนอกของระเบียงคด ทั้งกล่าวหาว่าแสดงให้เห็นการจงใจ "ละเลง" อย่างเปิดเผย โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐใส่ใจ
หลายคนเข้าใจว่าเป็นฝีมือของนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ และ อะไรที่เกี่ยวกับชาวจีนในช่วงนี้ก็มักจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากอาชญากรรมเกี่ยวกับชาวจีนที่ไปอาศัยทำกินในกัมพูชาปัจจุบัน เริ่มปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆตามหน้าสื่อต่างๆ
.
ไม่เพียงแต่อักษรจีนเท่านั้น ชาวเขมรออนไลน์กล่าวว่ายังมีอักษรญี่ปุ่นกับอักษรอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ใช่ภาษาไทยปัจจุบัน แต่เชื่อว่าเป็นอักษรสยาม -- เอ๊ะ ยังมีใครที่เขียนอักษรโบราณสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นอยู่อีกหรือ? ชาวเขมรออนไลน์คนหนึ่งตั้งคำถาม ก่อนจะละเลงข้อความวิพากษ์วิจารณ์องค์การอัปสรา ว่าไม่เอาใจใส่เรื่องแบบนี้มาเป็นเวลานาน จนไม่มีใครเกรงกลัวที่จะทำความผิด
สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องนี้ได้ขยายกว้างออกไป ทั้งภาพและข้อความถูกนำไปเผยแพร่ตามเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ และ กลายเป็นหัวข้อข่าวในสื่อกระแสหลักต่างๆ
แต่ก็มีชาวเขมรอีกหลายคน ที่พยายามอธิบายต่อเพื่อนร่วมชาติเกี่ยวกับสิ่งที่เห็น
"อักษรจีนปรากฏอยู่ที่นั่นมานานแล้ว รวมทั้งรูปพระพุทธรูปแบบจีนด้วย อย่าห่วงเลย -- อาจเป็นไปได้ว่ามีชาวต่างชาติไปเยือนที่นั่นนานมาแล้ว" เจ้าของเฟซบุ๊ก Chesda Art เขียน
อีกคนหนึ่งบอกว่า นครวัดเมื่อหลายร้อยปีก่อนโน้นคงเป็นสถานที่เงียบสงัด ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลเหมือนทุกวันนี้ ไม่มีวัดวาอารามเช่นที่เคยเห็นในช่วงหลังๆ ไม่มีองค์การหรือหน่วยงานไหนรับผิดชอบ -- ข้อเขียนเช่นนี้ทำให้ชาวเน็ตจำนวนมากเข้าใจเหตุการณ์ดียิ่งขึ้น
APSARA กล่าวว่าทั้งหมดที่ผ่านมานั้น เป็นการวิจารณ์โดยผู้ที่ไม่รู้ และ ขาดความเข้าใจ ตัวอักษรต่างด้าวเหล่านั้นมิใช่ของใหม่ หากเขียนหรือสลักตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือ เมื่อ 3-4 ร้อยปีก่อน โดยชาวต่างชาติจากหลายดินแดน กับอีกจำนวนหนึ่งเขียนและสลักก่อนทศวรรษที่ 1990
"การวิจารณ์ในเฟซบุ๊กที่ว่า มีชาวจีนเขียนลงบนผนังหินของปราสาทฯ นั้นไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ไม่ใช่เรื่อง (ที่เกิดขึ้น) ใหม่" นายลอง กุศล โฆษกองค์การอัปสรากล่าว
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา หน่วยงานนี้ได้ศึกษาวิจัยเอาไว้มากเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น และ มีรายงานบันทึกเอาไว้ทุกเรื่อง นอกจากนี้ยังปรากฎอักษรภาษาอื่นๆ อีกหลายภาษา ทั้งญี่ปุ่น พม่า เวียดนาม และ ภาษาฝรั่งเศส แต่ทั้งหมดเป็นรอยขีดเขียนที่มีมานานแล้ว
"ความหมายของถ้อยคำที่เขียนหรือสลักบนผนังหินพอสรุปได้ว่า -- ผู้แสวงหาความดีทั้งจากญี่ปุ่น พม่า สยาม ต่างพูดถึงนครวัด ยกย่องเป็นดินแดนแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นสถานที่ที่ผู้คนไปกราบไหว้บูชามิได้ขาด" อัปสราระบุในคำแถลง
ปัจจุบันองค์การนี้ได้ร่วมกับบรรดาบริษัทนำเที่ยวต่างๆ นับสิบๆ บริษัท เจ้าหน้าที่อัปสราและจากหน่วยงานอื่นๆ ต่างร่วมกันพิทักษ์รักษาโบราณอันเป็นแหล่งมรโดกโลกแห่งนี้ และ จะไม่อนุญาตให้ใครเขียนหรือสลักอะไรลงบนผนังอีกโดยเด็ดขาด -- โฆษกอัปสรากล่าว.