xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนไปดูเรือ "เล กวี๊ โดน" กองทัพเวียดนามในอ่าวไทย เรือใบฝึกลำใหญ่โดดเด่นในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>เล กวี๊ โดน ขณะแล่นในทะเลอ่าวไทย เป็นเพียง 1 ใน 2 ลำ เรือใบฝึก 3 เสากระโดงประเภทเดียวกัน ที่มีอยู่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน เป็นการออกเยือนเพื่อนบ้านครั้งแรก นับตั้งแต่บรรจุเข้ากองทัพเรือเวียดนามเมื่อปี 2559. -- ภาพโดยห่าย กวน เยิน ซเวิน เหวียดนาม.  </a>

MGR ออนไลน์ -- กองทัพประชาชนเวียดนามส่งเรือเล กวี๊ โดน (Lê Quý Đôn) มาเยือนฐานทัพเรือสัตหีบของไทย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสอันพิเศษสุดอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นการออกเยือนต่างแดนครั้งแรก ของเรือใบขนาดใหญ่ที่ต่อในประเทศโปแลนด์ ก่อนแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และ มหาสมุทรแปซิฟิกกลับบ้านเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รวมเป็นระยะทางหลายหมื่นกิโลเมตร และ ในปัจจุบันเป็นเพียงหนึ่งในสองลำที่มีอยู่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เล กวี๊ โดน 286 เป็นเรือใบฝึก (Sail Training Vessle หรือ Training Tall Ship) มีขนาดใหญ่กว่าเรือเดวารุตชี (KRI Dewaruci) ของกองทัพเรืออินโดนีเซียที่มีอายุกว่า 60 ปี ปัจจุบันเป็นเรือชนิดเดียวกันเพียง 2 ลำในกลุ่มอาเซียน ที่ยังคงใช้งานเป็นเรือฝึกของกองทัพ

เรือหมายเลข 286 ถึงท่าจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบของราชนาวีไทยวันที่ 1 พ.ค. และ อยู่เยือนจนถึงวันที่ 5 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กองทัพเรือเวียดนามรายงานผลการเยือนพร้อมกิจกรรมแลกเปลี่ยนต่างๆ ของบรรดาลูกเรือกว่าร้อยชีวิต ขณะเรือทอดสมออยู่ในบริเวณอ่าวจุกเสม็ด อันเป็นการเยือนกับการแลกเปลี่ยน ที่ช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ บรรดาเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย และ สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน รวมทั้งเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน

เรือเล กวี๊ โดน สังกัดสถาบันการทหารเรือเวียดนาม (Vietnam Naval Academy หรือ Học viện Hải Quân Việt Nam/ห็อก เวียน ห่าย กวน เหวียดนาม) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในหลายระดับ ทั้งนักเรียนนายเรือ และ หลักสูตรชั้นสูงสำหรับบรรดานายทหาร ตั้งอยู่ที่เมืองญาจาง จ.แค้งฮวา ทางภาคกลางตอนล่างของประเทศ

คณะมาเยือนไทยครั้งนี้นำโดย พันเอกเหวียน ดึ๊ก นาม (Nguyễn Đức Nam) รองผู้อำนวยการสถาบันดังกล่าว โดยได้รับการต้อนรับจาก น.อ.จักรพันธุ์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ในโอกาสต่อมาคณะของเวียดนาม ยังได้เข้าเยี่ยมคำนับ พล.ร.ต.ศิริชัย กาญจนบดี เสนาธิการฐานทัพเรือสัตหีบ อีกด้วย
.

.
เว็บไต์กองทัพเรือเวียดนาม รายงานว่านอกจากได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญในบางแขนงการกับฝ่ายไทย รวมทั้งการแข่งขันกีฬามิตรภาพแล้ว คณะเวียดนามยังมีโอกาสได้เที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ จำนวนหนึ่ง เป็นที่ประทับใจอีกด้วย

ตามข้อมูลในเว็บไซต์อู่ต่อเรือมารีนโปรเจ็กท์ (Marine Projects Ltd. Sp.) แห่งเมืองกดานส์ (Kdansk) ซึ่งเป็นแหล่งต่อเรือลำนี้ กระทรวงกลาโหมเวียดนาม เซ็นสัญญากับกลุ่ม Polski Holding Obronny บริษัทโฮลดิ้งสังกัดกระทรวงกลาโหมโปแลนด์ เพื่อต่อเรือเมื่อปี 2557 พิธีวางกระดูกงูจัดขึ้นในต้นเดือน ก.ค.ปีเดียวกัน และต่อมาในเดือน มิ.ย.2558 ก็ทำพิธีปล่อยลงน้ำ ติดตั้งระบบภายใน และ เข้าสู่การทดสอบระบบต่างๆ ผ่านการใช้งานจริงภายในบริเวณอ่าวกดานส์ จนเสร็จสิ้น

มารีนโปรเจ็กท์เป็นอู่ต่อเรือเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต และ มีผลงานการต่อเรือใบมีร์ (Mir) ที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือ เล กวี๊ โดน กว่าสองเท่าตัว เป็นเรือที่สร้างชื่อเสียงจากการแข่งขันในระดับโลกมาหลายครั้ง ปัจจุบันยังคงประจำการกองทัพเรือรัสเซีย ที่นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่ไม่ได้ใช้เป็นเรือฝึกอีกแล้ว -- ยังมีเรือใบฝึกอีกหลายลำในหลากหลายขนาด ที่ต่อจากอู่แห่งเดียวกัน สำหรับกองทัพเรือประเทศเครือข่ายสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออกเมื่อก่อน กับมิตรประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ตั้งชื่อตามชื่อของ Lê Quý Đôn มหากวีชาวเวียดนาม ที่มีอายุอยู่ระหว่างปี ค.ศ.1726–1784 เรือมีขนาด 950 ตัน ยาว 65 เมตร กว้างสุด 10 เมตร มีเสากระโดงจำนวน 3 เสา สูงเกือบ 41 เมตร สามารถใช้ใบกางในการเดินเรือได้ แต่ติดเครื่องยนต์ C32 ขนาด 880 กิโลวัตต์หรือ 1,196 แรงม้า ของแคเตอร์พิลลาร์ ที่สามารถทำความเร็วได้ถึง 12 นอต หรือ 22 กม./ชม. เรือลำนี้ใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเพียง 30 คน บรรทุกนักเรียนนายเรือ หรือ นายทหารที่เข้ารับการฝึกได้อีก 80 นาย มีระยะเวลาปฏิบัติการในทะเลได้นาน 45 วัน

พิธีรับมอบเรือเล กวี๊ โดน จัดขึ้่นที่ท่าเรือแห่งหนึ่งของอู่มารีนโปรเจ็กท์ ในเดือน ส.ค. 2558 ก่อนจะออกเดินทางไปยังเวียดนาม โดยมีลูกเรือบนเรือ 60 รวมทั้งหมดคน เป็นเจ้าหน้าที่กับช่างเทคนิคชาวโปแลนด์รวมอยู่ด้วย 20 คน ซึ่งตามแผนการดั้งเดิมนั้น เรือจะแล่นออกจากทะเลบัลติก ไปอ้อมคาบสมุทรเดนมาร์ก เข้าสู่ทะเลเหนือและ ผ่านช่องแคบอังกฤษ ก่อนแล่นเลียบชายฝั่งยุโรปตะวันตกและยุโรปใต้ ไปอ้อมแหลมแอฟริกา เข้ามหาสมุทรอินเดีย และ มหาสมทุรแปซิฟิก ไปยังเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาเดินทางราว 3 เดือน
.



.






อย่างไรก็ตาม เกียนถึกออนไลน์สื่ออิเล็กทรอนิกส์ภาษาเวียดนามรายงานว่า เรือเล กวี๊ โดน ได้เปลี่ยนแผน โดยออกจากเมืองท่ากดานส์วันที่ 27 ก.ย.2558 แล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก มุ่งหน้าไปยังทะเลแคริบเบียน เข้าคลองปานามา ทะลุสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านฝ่าพายุใหญ่มา 2 ลูก ฝ่าคลื่นสูงและลมแรงอีกนับครั้งไม่ถ้วน รวมเป็นระยะทางกว่า 20,000 ไมล์ทะเล (หรือกว่า 37,000 กม.) จนถึงบ้านถาวรฐานทัพเมืองญาจาง -- กองทัพเรือเวียดนามจัดพิธีบรรจุเรือลำนี้เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2559

ส่วนเรือใบฝึกของกองทัพเรืออินโดนีเซีย มีประวัติความเป็นมายาวนานมาก เป็นเรือสัญชาติเยอรมัน ต่อจากอู่ในนครฮัมบวร์ก โดยเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1932 หรือ พ.ศ.2475 แต่การที่เยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการต่อเรือลำนี้โดยตรง ในเวลาต่อมาอู่ยังเสียหายหนัก จากการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงจึงดำเนินการต่ออีกครั้งหนึ่ง และ ทำพิธีปล่อยลงน้ำในเดือน ม.ค.2496 -- แล้วเสร็จในเดือน ส.ค.ปีเดียวกัน -- ถูกส่งไปยังอินโดนีเซีย และประจำที่ฐานทัพเรือสุราบายา มาตั้งแต่นั้น

เรือ KRI Dewaruci มีขนาด 847 ตัน ความยาวรวม 58.3 เมตร กว้างสุด 9.5 เมตร ประกอบด้วย 3 เสากระโดง ซึ่งสูง 36.5 เมตร ติดเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 735 วัตต์ หรือ 986 แรงม้า ขนาดเล็กกว่าแต่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการถึง 81 คน บรรทุกได้อีก 75 คน

ถึงแม้เรือใบฝึกของกองทัพอินโดนีเซีย จะเคยเข้าร่วมในเหตุการณ์ระดับนานาชาติมาหลายครั้งก็ตาม แต่สามารถกล่าวได้ว่า ทั่วโลกรู้จักเรือลำนี้ดีขึ้น จากภาพยนตร์ The King and I หรือ "แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม" เรื่องราวที่สร้างขึ้นจากสมุดบันทึกของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาชาวอังกฤษ ที่เคยปฏิบัติงานอยู่ในราชสำนักสยามเมื่อก่อน และ ภาพยนตร์ที่แสดงนำโดยโจดี ฟอสเตอร์ ได้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศไทย

สำหรับเรือของเวียดนามนั้น ก่อนที่จะมาเยือนอ่าวสัตหีบของไทยครั้งนี้ ได้แวะเยือนเมืองท่าสีหนุวิลล์ในกัมพูชาเป็นเวลา 5 วัน ประกอบกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์เช่นเดียวกัน ลูกเรือยังได้ขึ้นบกไปวางพวงมาลา ที่อนุสรณ์สถานทหารเวียดนาม ที่เสียชีวิตในช่วงสงครามกลางเมืองในกัมพูชา -- เกียนถึกออนไลน์รายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการเยือนสันถวไมตรีไทย เรือเล กวี๊ โดน จะบ่ายหน้ากลับสถาบันการทหารเรือญาจาง

นอกจากจะเป็นหลักของกองทัพเรือเวียดนาม ในด้านการศึกษาอบรมแล้ว หลายปีมานี้สถาบันการทหารเรือญาจาง ยังได้ช่วยฝึกฝนทหารเรือของกองทัพเรือราชอาณาจักรกัมพูชา และ กองกำลังทางน้ำของกองทัพประชาชนลาวมาเป็นจำนวนหลายร้อยนาย สื่อภาษาเวียดนามรายงาน.


กำลังโหลดความคิดเห็น