xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามอาลัยครั้งสุดท้าย "ฟาน วัน ขาย" ฝังอดีตนายกฯ นักปฏิรูปเคียงข้างภรรยาที่บ้านเกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>ส่งสหายสู่สวรรค์ -- นายเหวียน ฟุ จ่อม กับ พล.อ.เจิ่น ได กวาง นำโลงศพออกจากทำเนียบฯ นครโฮจิมินห์ เพื่อเข้าขบวนแห่ ไปยังเขตกู๋จี บ้านเกิด ซึ่งนายฟาน วัน ขาย ประสงค์ จะให้ฝังร่างไว้เคียงข้างภริยา ผู้ล่วงลับไปก่อน ภายในสุสานของครอบครัว แทนที่จะเป็นสุสานสำหรับวีรชนแห่งชาติ -- ในภาพนี้ยังมีสองอดีตเลขาธิการใหญ่พรรคฯ คือ นายโด๋ เหมื่อย กับ นายโนง ดึ๊ก แหม่ง ร่วมพิธีด้วย. -- ภาพทั้งหมดจากเว็บไซต์คณะกรรมการกลางพรรค.  </a>

MGRออนไลน์ -- พรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาล และประชาชนเวียดนาม ได้แสดงความอาลัยนายฟาน วัน ขาย (Phan Văn Khải) อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย ในพิธีที่จัดขึ้นภายในทำเนียบแห่งการรวมชาติ นครโฮจิมินห์ ตอนเช้าวันพฤหัสบดี 22 มี.ค.นี้ ก่อนจะเคลื่อนศพไปยังเขตกู๋จี (Củ Chi) บ้านเกิด และ ฝังร่างเคียงข้างกับภริยาผู้ล่วงลับ ที่สุสานของครอบครัว ตามความประสงค์ โดยมีผู้นำระดับสูง เข้าร่วมในพิธีศพอย่างพร้อมเพียง

พิธีอาลัยครั้งสุดท้ายเริ่มขึ้น เมื่อเวลา 07.30 น. นำโดย นายเหวียน ฟุ จ่อม (Nguyễn Phú Trọng) เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ พล.อ.เจิ่น ได กวาง (Trần Đại Quang) ประธานาธิบดี นายเหวียน ซวน ฟุก (Nguyễn Xuân Phúc) นายกรัฐมนตรี นางเหวียน ถิ กิม เงิน (Nguyễn Thị Kim Ngân) ประธานรัฐสภา กับบรรดาสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรค รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนในกรุงฮานอย พิธีอาลัยอดีตนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ถนนเล ห่ม ฝอม (Lê Hồng Phong) -- มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

นายขายซึ่งเป็นอดีตสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองอาวุโสคนหนึ่ง ถึงแก่อนิจกรรม ตอนเช้าตรู่วันเสาร์ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านพักชานนครโฮจิมินห์ ด้วยวัย 85 ปี หลังจากล้มป่วยหนัก ในช่วงก่อนเทศกาลตรุษเดือน ก.พ. พรรคและรัฐ กับครอบครัวได้ส่งไปรักษา ที่โรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ ก่อนกลับไปพักฟื้นที่บ้านพัก จนกระทั่งสิ้นใจอย่างสงบ ครอบครัวกล่าวว่า อดีตผู้นำมีความประสงค์ให้ฝังศพของตน ไว้เคียงข้างภรรยาที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้

พรรคและรัฐได้จัดพิธีอาลัยอย่างสมเกียรติ ตามประเพณี รวมทั้งประกาศจัดรัฐพิธีอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 20-21 มี.ค.2561 เว็บไซต์ของพรรคคอมมิวนิสต์รายงานว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนทั่วไป ทั้งในโฮจิมินห์และในฮานอย เข้าไว้อาลัยอดีตนายกรัฐมนตรี รวมเป็นจำนวน 108,000 คน รวมทั้งบรรดาทูตานุทูต กับผู้แทนองค์การระหว่างประเทศอีก 231 คณะ ทั้งนี้ยังไม่นับรวม จำนวนที่ไปแสดงความอาลัยต่อครอบครัวที่บ้านพัก

นายขายเกิดวันที่ 25 ธ.ค.2476 ในเขต 3 นครโฮจิมินห์ปัจจุบัน ก่อนย้ายออกไปตั้งบ้านเรือน ที่เขตกู๋จี เรียนสำเร็จสาขาเศรษฐศาสตร์จากสหภาพโซเวียต มีประวัติการต่อสู้โชกโชน ตั้งแต่ยุคต่อต้านฝรั่งเศส จนถึงยุคสงครามกับสหรัฐ เป็นอดีตผู้นำระดับสูงอีกผู้หนึ่ง ที่ได้รับการยกย่องว่า -- เป็นผู้อุทิศทั้งชีวิตให้แก่ชาติกับประชาชน
.


นายขายนำพลพรรคต่อสู้รัฐบาลไซ่ง่อนกับสหรัฐ ในเขต อ.กู๋จี จ.เตยนีง (Tây Ninh) เมื่อก่อน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงไซ่ง่อน -- ก่อนได้รับมอบหมาย ให้นำพาการต่อสู้ ในเขตโด่งท้าปเหมื่อย (Đồng Tháp Mười) ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.โด่งท้าป กับ จ.ลองอาน (Long An) ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง ทางตอนใต้นครโฮจิมินห์ในปัจจุบัน -- จนถึงวันแห่งชัยชนะ

เข้าเป็นสมาชิกพรรคคนงานเวียดนาม (พรรคคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา) เมื่อปี 2490 ได้รับเลือกเข้าสู่คณะกรรมการกลางพรรครั้งแรก ในปี 2502 และ ติดต่อกันมาอีก 5 สมัย และ ได้รับเลือกเข้าสู่คณะกรรมการกรมการเมือง องค์กรอำนาจสูงสุดของพรรค ใน 3 สมัยสุดท้าย

นายขายได้ชื่อเป็นนักปฏิรูป -- ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2540 เคยเป็นรองเลขาธิการพรรคสาขานครโฮจิมินห์ เป็นประธานคณะกรรมการประชาชน ก่อนจะไปรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการแผนการแห่งรัฐ ซึ่งกลายมาเป็นกระทรวงแผนการและการลงทุนในเวลาต่อมา -- และ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

นายขายได้รับเลือกจากพรรคคอมมิวนิสต์ และรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล 2 สมัย โดยได้รับเลือกซ้ำเป็นสมัยที่สอง ในปี 2545 แต่ได้ลาออกในปี 2549 -- 1 ปีก่อนครบวาระ -- ด้วยปัญหาสุขภาพ รวมเป็นเวลาที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเวียดนาม 9 ปี

ระหว่างอยู่ในตำแหน่งยาวนาน นายขายได้เป็นผู้นำในการบุกเบิก สร้างกลไกเศรษฐกิจแบบตลาด ขึ้นแทนที่เศรษฐกิจสังคมนิยม ที่รัฐผูกขาด โดยเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วม ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นครั้งแรก ผ่านการแก้ไขกฎหมาย และ กฎระเบียบต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งออกกฎหมาย กฎระเบียบใหม่ อำนวยความสะดวกให้แก่ การทำธุรกิจ และการประกอบวิสาหกิจต่างๆ
.



ผลงานที่มีความโดดเด่นมากที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ นายขายได้บุกเบิก การทำความตกลงการค้ากับสหรัฐ จนกระทั่งมีการยกเลิกเอ็มบาร์โกทางการค้า กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก จากคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่ไปเยือนทำเนียบขาว ผลงานของนายาย ได้ทำให้สองประเทศที่เคยเป็นศัตรูคู่แค้นสำคัญที่สุด กลายมาเป็นคู่ค้าที่ใกล้ชิดสนิทสนม ปัจจุบันสหรัฐได้กลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ของสินค้าจากเวียดนาม และ สหรัฐกลายเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุด

ในยุคนั้นเศรษฐกิจเวียดนาม มีอัตราเติบโตสูง 7.5-8% ทุกปี ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และ เวียดนามได้เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในย่านนี้ ที่รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน "ต้มยำกุ้ง" ในประเทศไทย

ระหว่างปราศรัยลาออกจากตำแหน่งในรัฐสภา นายขายได้กล่าวถึงการปฏิรูปของประเทศว่า ในขณะที่ประสบความสำเร็จหลายด้าน แต่ "สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าเป็นกังวลก็คือ มันได้ทำให้พวกเรารู้จักจุดอ่อน ในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และการบริหารงานของรัฐ แต่เรายังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ และ บางปัญหา ได้ถูกปล่อยปะละเลยให้เลวร้ายลงไป"

นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ และ เรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไขจากผู้รับผิดชอบ ซึ่งก็คือผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งสืบต่อจากตน

หลังลาออกตำแหน่งเพียงไม่นาน นายขายก็ได้รับอิสริยาภรณ์ดาวแดง ซึ่งเป็นเกียรติประวัติสูงสุด สำหรับผู้นำคนหนึ่ง และ เวียดนามเข้าสู่ยุคแห่งการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่ที่สุด -- โดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้กำหนด ให้การทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นหนึ่งใน "สามสิ่งชั่วร้ายทางสังคม" ที่จะต้องกำจัดให้หมดไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น