MGRออนไลน์ -- ทหารผ่านศึกเวียดนาม ที่ถูกส่งไประจำชายแดนกัมพูชาเมื่อ 39 ปีก่อน และ ถูกแทงเป็นนักรบผู้หายสาปสูญ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม รวมทั้งได้รับการยกย่องเป็นวีรชน มีหลุมฝังศพในสุสานนักรบในท้องถิ่น เพิ่งได้กลับบ้านเกิดใน อ.กว่างเสือง (Quảng Xương) จ.แทงฮว้า (Thanh Hóa) เมื่อไม่กี่วันมานี้ หลังจากมีญาติมาพบ รอนแรมเก็บขวดขายอยู่ในประเทศไทย ตลอดเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา
เรื่อราวของนายเหวียนวันเก๊ ( Nguyễn Văn Kế) หรือ อดีตพลทหารเหวียนวันเก๊ ซึ่่งปัจจุบันอายุ 50 ปีเศษ ถูกแชร์อย่างกว้างขวาง ในโลกออนไลน์ของชาวเวียดนาม เมื่อไม่กี่วันมานี้
แต่คนที่ดีใจมากที่สุด ย่อมไม่มีใครเกิน นางเหวียนถิเฮ่ย (Trịnh Thị Hậy) ที่เฝ้ารอคอยลูกชายมาชั่วชีวิต ถึงแม้ว่าจะเคยได้รับมรณบัตรจาก กระทรวงกลาโหมและกองทัพประชาชน ยืนยันการเสียชีวิตของนายเก๊มานานกว่า 30 ปีแล้วก็ตาม
เฟซบุ๊กภาษาเวียดนาม ได้เขียนเรื่องราวจากการบอกเล่าของนายเก๊มากมาย โดยเริ่มในเดือน เม.ย.2521 ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรับใช้ชาติ ถูกสงไปฝึก ก่อนส่งไปประจำกองทัพภาคตะวันตกเฉียงใต้เมื่อก่อน ซึ่งอยู่ติดเขตแดนกัมพูชา ฝึกแล้วเสร็จก็ส่งไปประจำหน่วยรบส่วนหน้า ของกองพล 442
นั่นคือช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามยุติลงไปแล้ว 3 ปี แต่สงครามที่ชายแดนเวียดนาม-กัมพูชา กำลังจะเริ่ม ในช่วงปีนั้นระบอบโปลโป้ต-เอียงสารี-เคียวสมพร กับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่มีจีนหนุนหลัง ได้ข้ามพรมแดนเข้าสังหาร เข่นฆ่าชาวเวียดนาม จุดเผาหมู่บ้านนับจำนวนไม่ถ้วน ทำให้เวียดนามส่งกองทัพมหึมาเข้าขับไล่ และ ยึดครองกัมพูชาต่อมาอีก 10 ปี เพื่อดูแลรัฐบาลชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นบริหารประเทศ
แต่เหวียนวันเก๊ ไม่ได้อยู่จนถึงวันรุกรบครั้งใหญ่ ในวันคริสต์มาสปีนั้น ที่กองทัพประชาชน ใช้กำลังพลนับแสน ยาตราข้ามพรมแดน และ เข้ายึดกรุงพนมเป็ญได้เบ็ดเสร็จ ในวันที่ 7 ม.ค.2522 -- หมวดของเขาปะทะกับกองกำลังของเขมรแดงตั้งแต่ต้นปี เพื่อนๆ หลายคน รวมทั้งตัวเขาเองถูกจับเป็นเชลย ถูกนำเข้าไปในกัมพูชา ซึ่งเป็นการเดินทางที่ไกลมาก และ ถูกควบคุมตัวไว้ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขาไม่รู้เลยว่าเป็นที่ใด
.
2
เวลาต่อมานายเก๊เองล้มป่วยเป็นไข้ป่า หรือ มาลาเรีย พวกเขมรแดงนำส่งคลินิกในท้องถิ่นแห่งหนึ่ง และ เนื่องจากไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้เลย ทำให้เขาตัดสินใจหลบหนี และ ทำได้สำเร็จในวันหนึ่ง โดยรอนแรมไปอย่างไร้จุดหมาย (เข้าไปในลาว?) ก่อนจะไปลงเอยในประเทศไทย
เขาไม่คิดจะกลับเข้าไปในกัมพูชาอีก แม้ในช่วงปีที่เวียดนามยึดครองอยู่ก็ตาม แต่สื่อออนไลน์เวียดนามก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ตลอดเวลากว่า 30 ปี ที่อยู่ในประเทศไทย นายเก๊ไปอาศัยอยู่ที่แห่งใดบ้าง บอกแต่เพียงว่า ล่าสุดอยู่ใน "จังหวัดหนึ่ง" เท่านั้น
ชีวิตของเขาได้พบหนทางสว่าง เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อได้เจอ นายเหวียนวันหุ่ง (Nguyễn Văn Hùng) อย่างบังเอิญ และ หลังจากสืบสานเรื่องราวกันแล้ว ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ทราบว่า เป็นญาติกัน นายหุ่งแต่งงานและไปอาศัยทำกินอยู่ใน จ.กว๋างนีง (Quảng Ninh) แต่ไปทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทย
ญาติคนนี้ได้นำภาพ กับเรื่องราวของทหารผ่านศึกคนหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่ในต่างแดน เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก และ ได้ช่วยเหลือหาทางนำเขาเดินทางกลับบ้านในเวลาต่อมา
ในที่สุดนายเก๊ ก็ได้กลับถึงบ้านที่คอมมูนกว๋างเติน (Quảng Tân) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2560 โดยมีคุณแม่ชรากับญาติๆ รอรับกันแน่นขนัด ทุกคนได้เห็นคุณแม่วัย 82 ปีโผเข้ากอดลูกชาย น้ำตานองใบหน้า หลังพรากจากกันไปเกิอบ 40 ปี
นางเฮ่ยบอกผู้สื่อข่าว เวียดนามเอ็กซ์เพรสว่า ครอบครัวมีลูก 7 คน นับตั้งแต่นายเก๊ถูกส่งไปประจำชายแดนทางด้านโน้น ก็ไม่ได้รับทราบข่าวคราวใดๆ อีกเลย จนกระทั่ง 5 ปีต่อมา (2526?) จึงได้รับหนังสือแสดงความเสียใจจากทางการ พร้อมแจ้งให้ทราบว่าลูกสูญหายไประหว่างปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทำให้ตนกับสามีนอนไม่หลับตลอดมา
.
3
ไม่นานทางการได้ออกมรณบัตรให้ ทั้งระบุว่าลูกชายได้เป็นวีรชนคนหนึ่ง เพราะสูญเสียชีวิตในหน้าที่ แต่ไม่ได้มีอัฐิหรือหลักฐานใดๆ กลับไปให้ ความทุกข์โศกของครอบครัวยังไม่หมด และ ตั้งใจว่าจะออกค้นหาศพ หรืออัฐิ เพื่อนำกลับไปบำเพ็ญกุศล แต่ภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวไม่อำนวย ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ จนกระทั่งคุณพ่อของนายเก๊เสียชีวิตไปอีกคน
ส่วนนายเก๊เล่าว่า ระหว่างอยู่ในประเทศไทย ตนได้เก็บขวดกับของเก่าขาย ได้เงินพอเลี้ยงปากท้องไปวันๆ โดยทำมานานหลายสิบปี ไม่มีเมีย ไม่มีลูก เจ็บป่วยไม่มีใครดูแล ต้องช่วยเหลือตัวเองตลอด
"ผมไม่ค่อยได้นอน ไม่มีบ้าน อาศัยหลับนอนใต้สะพาน หลายครั้งคิดถึงบ้าน อยากจะกลับบ้าน แต่ไม่รู้ทาง ไม่รู้จะกลับไปได้อย่างไร ชีวิตเหมือนถูกแยกออกจากโลกทั้งใบ" นายเก๊กล่าว
วันนี้่ทหารผ่านศึกคนหนึ่งได้กลับคืนสู่โลกของเขาอีกครั้ง ชีวิตแวดล้อมด้วยพี่ๆ น้องๆ สมาชิกครอบครัว กับญาติๆ ซึ่งหลายคนเพียรแวะเวียนไปหา และ ถามเขาบ่อยๆ ว่า เป็นใคร จำได้หรือไม่ ซึ่งเขาเองจำเรื่องราวเก่าๆ ครั้งอดีตไม่ได้อีกแล้ว เพราะเกิอบ 40 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างในคอมมูนบ้านเกิด ไม่เหมือนเดิม -- แต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่งจะเปลี่ยนแปลงภายในบ้านก็คือ คุณแม่ของเขาเพิ่งเก็บแท่นบูชาไว้ทุกข์สำหรับเขา ออกไปจากห้อง เมื่อไม่กี่วันมานี้
นางเหวียนถิทู (Nguyễn Thị Thu) หัวหน้าแผนกแรงงาน ผู้พิการ และ สวัสดิการสังคม ของอำเภอกว่างเสือง กล่าวว่าได้ประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงแล้ว เพื่อพิสูจน์ตัวตนของนายเก๊อีกครั้งหนึ่ง ทั้งจัดค่าชดเชยทหารบาดเจ็บ และสวัสการสำหรับทหารผ่านศึกให้แก่นายเก๊.