MGRออนไลน์ -- กองทัพพม่าได้สร้างอุโมงค์ลมแนวดิ่งขึ้นมา เพื่อฝึกกำลังพลในการกระโดดร่ม รวมทั้งฝึกนักบินและนักกีฬาทางด้านนี้ ซึ่งถ้าหากไม่นับรวมกับอุโมงค์ชนิดเดียวกัน ที่ใช้ในฝ่ายพลเรือนและเพื่อการพาณิชย์แล้ว ก็นับเป็นเพียงอุโมงค์ลมแนวดิ่ง เพียงไม่กี่แห่งในภูมิภาคที่สร้างขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์ทางทหารโดยเฉพาะ
วิดีโอคลิปกิจกรรมของ พล.อ.อาวุโสมินอองหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการกองทัพพม่า ที่เผยแพร่วันอังคาร 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยให้เห็นสถานที่สำหรับการฝึกกำลังพลดังกล่าว ในนครย่างกุ้ง
ผู้บัญชาการกองทัพพม่าได้ประกอบกิจกรรมหลายอย่างในวันเดียวกัน ตั้งแต่ไปเยี่ยมชมการแสดงสาธิต "ตั๋ย" (Thaing) แบบพม่า ที่วิทยาลัยการพยาบาลแห่งหนึ่ง ก่อนไปเยี่ยมเยือนทหารบาดเจ็บ ที่สถานพักฟื้นของกองทัพ ในย่านเม็งกะลาโดง (Mingkaladong) นครย่างกุ้ง และ ไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอุโมงค์ลม
ตามรายงานของโทรทัศน์เมียะวดี ซึ่งเป็นสื่อของกองทัพและกระทรวงกลาโหม พล.อ.อาวุโสมินอองหล่าย ไปเยี่ยมชมอุโมงค์ลมแนวดิ่ง Indoor Skydriving ในบ่ายวันเดียวกัน พล.ท.โนซอ (Nyo Saw) ผู้บัญชาการทหารเขตย่างกุ้ง ได้บรรยายสรุปด้วยพาวเออร์พ้อยท์ เกี่ยวกับความเป็นมาของศูนย์ฝึกนครย่างกุ้ง ทั้งโครงสร้างต่างๆ ของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยีที่ใช้ ซึ่งกองทัพจัดจ้าง และ ให้บริษัทเมียนมาร์อีโคโนมิคคอร์ปอร์เรชั่น เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
เมียะวดีไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ศูนย์ฝึก Skydriving แห่งนี้ ก่อตั้งหรือก่อสร้างขึ้นมาเมื่อไร ระบุแต่เพียงว่า กองทัพให้สร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ "เพื่อยกระดับกำลังพลในการกระโดดร่มดิ่งพสุธา และ ก่อสร้างกำลังพลด้านนี้"
.
การฝึกซ้อมภายในอุโมงค์ลมแนวดิ่ง จะทำให้นักเรียนฝึกหัด ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ "ต้องทำ" และ "ต้องไม่ทำ" เพื่อการทรงตัวในอากาศ แม้จะในชั่วเวลาสั้นๆ นอกจากนั้่นยังฝึกสอน เกี่ยวกับการกระตุกร่มในระดับสูง และ การกระตุกร่มในระดับต่ำ และ ไม่เพียงศูนย์ฝึกอุโมงค์ลมแนวดิ่ง จะฝีกฝนนักกระโดดร่มของกองทัพเท่านั้น หากยังให้บริการฝึกซ้อมนักกีฬากระโดดร่ม Skydriving เพื่อไปสู่การแข่งขันในระดับโลกอีกด้วย
วิดีโอคลิปที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของ พล.อ.อาวุโสมินอองหล่าย มีช่วงสั้นๆ อยู่ช่วงหนึ่ง แสดงให้เห็นการสาธิต แสดงการทรงตัวและลอยตัวในอากาศของนักเรียนฝึกหัด รวมทั้งแสดงการกระตุกร่มในระดับสูง และ การกระตุกร่มในระดับต่ำ การฝึกฝนเทคนิคเหล่านี้ให้ชำนาญ เป็นพื้นฐานสำคัญของทหารหน่วยพลร่ม
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมนั้น การกระตุกร่มในระดับสูง (High Altitude High Opening) หรือ HAHO เป็นวิธีที่ใช้กันมานานตั้งแต่ช่วงหลังสงครมโลกครั้งที่ 1 ทั้งในการทิ้งร่มขนส่งอุปกรณ์ทางทหาร และ การกระโดดร่มของกำลังพล ทั้งในแนวหน้าและแนวหลังข้าศึก โดยกระตุกร่มจากระดับสูง ภายใน 10-15 วินาที หรือ เกือบจะทันทีที่ออกจากเครื่องบิน
เทคนิคนี้จะยากยิ่งขึ้น เมื่อต้อง "ทิ้งร่ม" เพื่อส่งอุปกรณ์ให้ไปหล่นลง หลายสิบกิโลเมตรในแนวหลังของข้าศึก
ขณะเดียวกันการกระตุกร่มในระดับต่ำ (Hight Altitude Low Opening) หรือ HALO นั้น พลร่มจะกระตุกร่มให้กางในระดับสูงจากพื้นดินไม่มาก หลังจาก "ดิ่ง" (Free fall) ออกจากเครื่องบิน เป็นเทคนิคที่มีอันตรายมากกว่า แต่ช่วยให้พลร่มถึงที่หมายข้างล่างได้รวดเร็ว แม่นยำ รวมทั้งไม่ตกเป็นเป้าหมายการยิงจากเบื้องล่างของข้าศึก
.
2
3
เทคนิค HALO ยังมีประโยชน์สำหรับนักบิน ทั้งเครื่องบินขับไล่/ทิ้งระเบิด และเครื่องบินขนส่งทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ เครื่องบินถูกยิงด้วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน การทิ้งตัวดิ่งจากความสูงอย่างรวดเร็ว ช่วยให้นักบินพ้นจากสะเก็ด จากการระเบิดกลางอากาศของกระสุน ปตอ.ได้
มีบันทึกทางทหารเอาไว้ว่า เทคนิคกระโดดร่มแบบ HALO นี้ถูกนำไปใช้เพื่อการรบเป็นครั้งแรกในดินแดนลาว ในช่วงสงครามเวียดนาม
ผู้ที่เข้าไปอ่านเฟซบุ๊กของ พล.อ.อาวุโสมินอองหล่าย บางคนให้ข้อมูลว่า ศูนย์ฝึกอุโมงต์ลมแนวดิ่งของกองทัพพม่านั้น เป็นเพียงไม่กี่แห่งในภูมิภาคนี้ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทางการทหารโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่มีอุโมงค์ลมในประเทศเพื่อนบ้านย่านนี้จะเป็นแนวนอน เพื่อใช้สำหรับงานวิจัย หรือทดสอบเกี่ยวกับอากาศยาน รวมทั้งแห่งหนึ่งที่โรงเรียนนายเรืออากาศของไทยด้วย
อุโมงค์อีกจำนวนหนึ่ง สร้างขึ้นมาเพื่อการทดสอบทางด้านวิศวกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดสอบความความแข็งแรงของอาคารสูง
เว็บไซต์ indoorskydivingsource.com ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุโมงค์ลมแนวดิ่งเพื่อสันทนาการในทั่วโลก ได้บันทึกข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีอุโมงค์ลมแนวดิ่งของเอกชนอยู่ 2 แห่ง เป็นแบบอินดอร์อยู่ 1 แห่ง และ เอ้าต์ดอร์อีก 1 แห่ง ทั้งสองแห่งสร้างขึ้นมาเพื่อบริการนักท่องเที่ยว หรือ เพื่อการเล่นสนุกสนานสำหรับบุคคลทั่วไป
เว็บไซต์ ISS ระบุอีกว่า ยังมีอุโมงค์ลมแนวดิ่งทันสมัยอีก 2 แห่งในภูมิภาคนี้ คือ ในสิงคโปร์ 1 แห่ง กับอีกแห่งหนึ่งที่เกนติ้งไฮแลนด์ของมาเลเซีย แต่แห่งหลังได้ผิดการให้บริการเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยยังไม่ทราบในรายละเอียดว่า เป็นการปิดชั่วคราวเพื่อปรับปรุงกิจการ หรือ ปิดลงอย่างถาวร.