MGRออนไลน์ -- เกือบจะสิ้นปีแล้ว แต่บริษัทผู้ผลิตแห่งรัสเซีย ยังยืนยันจะส่งมอบไอพ่นฝึก Yak-130 ครบจำนวนทั้ง 3 ลำ สำหรับกองทัพอากาศพม่า ลำแรกบินทดสอบเสร็จแล้ว และ พร้อมส่งให้ สำนักข่าวโนวอสติ (RIA Novosti) ของทางการรัสเซีย รายงานในสัปดาห์นี้
กระทรวงกลาโหมพม่าเซ็นสัญญาจัดหาเครื่องบินฝึกที่ก้าวหน้า รุ่นเก่าแก่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงนี้ในเดือน มิ.ย.2558 หลังแสดงความสนใจมาเป็นเวลา 3 ปีก่อนหน้านั้น และ เคยส่งคณะไปเยือนรัสเซียเพื่อชมการทดสอบหลายครั้ง
เครื่องบินฝึก/โจมตีรุ่นนี้ ใช้งานมานานในกองทัพอากาศรัสเซีย และพัฒนามาต่อเนื่อง เป็นผลงานการประดิษฐ์ร่วมกัน ระหว่างยาคอฟเลฟ (Yakovlev) บริษัทผูั้ผลิตเครื่องบินรายหนึ่งในรัสเซีย กับกับเอมัคคี (Aermacchi) กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานจากอิตาลี สายการผลิตเปิดขึ้นในปี 2536 รุ่นแรกคือ Tak/AEM-130D ขึ้นบินเป็นครั้งแรกในปี2439 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเริ่มถดถอย ก่อนเข้าสู่ "วิกฤติการณ์ต้มยำกุ้ง" ในปีถัดมา ทำให้การตลาดย่ำแย่ตั้งแต่เริ่ม
ปี 2542 ได้มีการล้มเลิกบริษัทหุ้นส่วนรัสเซีย-อิตาลี แยกการผลิต Yak-130 กับ M346 ของเอมัคคีจากกันเด็ดขาด แต่นั่้นมาการผลิตกับการตลาดของไอพ่นฝึกรัสเซีย ตกไปสู่มือของยาคอฟเลฟ บริษัทอีร์คุต (Irkut Co) ที่รวมตัวกันขึ้นมาใหม่ เป็นกลุ่มอากาศยานใหญ่ของประเทศ และ อยู่ภายใต้การกำกับโดยรัฐวิสาหกิจโรโซโบรอนพรอม (Rosoboronprom)
กลุ่มยาคอฟเลฟ (Yakovlev) ยังคงใช้ชื่อ Yak-130 ทำการตลาดต่อมา และ พัฒนาให้เป็น เครื่องบินฝึกรุ่นก้าวหน้า (Advanced Trainer) กลุ่มนาโต้ตั้งสมญานามว่า "มิตเท็น" (Mitten) เป็น บฝ.ไอ่พ่นอีกรุ่นหนึ่งของกองทมัพ และ ได้รับความสนใจจากลูกค้าในต่างประเทศ เนื่องจากราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง แม้จะมีความเร็วต่ำกว่าเสียงก็ตาม
.
.
ตามรายงานในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม Yak-130 แบบ 2 ที่นั่ง ราคาส่งออกลำละประมาณ 15 ล้านดอลลาร์ สามารถดัดแปลงติดตั้งอาวุูธต่างๆ ได้น้ำหนักรวมถึง 3 ตัน รวมทั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน อากาศสู่อากาศ จรวดโจมตีเป้าหมายภาคพื้น ระเบิดทำลายทั่วไป และ ระเบิดนำวิถีความแม่นยำสูง รวมทั้งปืนใหญ่อากาศด้วย
การซื้อ Yak-130 ของพม่า ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิตกกังวลไม่น้อย เกรงฝ่ายทหารพม่าจะนำไปในการปราบปรามชนชาติส่วนน้อย ในรัฐต่างๆ ในเขตป่าเขาทางตอนเหนือ และ ตลอดแนวชายแดนติดกับไทย
ผู้สังเกตุการณ์กล่าวว่า ไอพ่นฝึก Yak-130 เหมาะที่จะนำไปใช้ เป็นเครื่องบินโจมตี เนื่องจากมีความคล่องตัวสูง เหมาะกับสภาพภูมิประเทศอันจำกัด มากกว่าเครื่องบินรบขนาดใหญ่ ที่มีความเร็วเหนือเสียง ในขณะที่ ฮ.กันชิป ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกยิงด้วยปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ที่ทราบกันทั่วไปว่ากบฏชนกลุ่มน้อย แทบจะทุกกลุ่มมีอาวุธชนิดนี้ในครอบครอง
พม่ากำลังจะเป็นประเทศที่ 4 นอกรัสเซีย ที่มี Yak-130 ใช้งาน ถัดจากแอลจีเรีย บังกลาเทศ กับ เบลารุส
และ นี่คือ บฝ.รุ่นเดียวกันกับที่สื่อรัสเซีย รายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า กองทัพประชาชนลาวเจรจาขอซื้อ จำนวน 20 ลำ.
.