รอยเตอร์ - กลุ่มสมาชิกรัฐสภาจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรียกร้องให้พม่าสอบสวนรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ ขณะที่นักการทูตระดับสูงที่ประจำอยู่ในประเทศได้ออกเดินทางลงพื้นที่
กองกำลังทหารถูกระดมลงพื้นที่รัฐยะไข่เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ผู้ก่อเหตุไม่สงบที่เชื่อว่าเป็นชาวมุสลิมโรฮิงญาเปิดฉากโจมตีฐานชายแดนเมื่อวันที่ 9 ต.ค. จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย และรัฐบาลระบุว่า มีทหาร 5 นาย และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โจมตีอย่างน้อย 33 คน เสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติการทางทหาร
เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ และผู้สังเกตการณ์ถูกห้ามเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการเป็นเวลามากกว่า 3 สัปดาห์ ขณะที่ประชาชน และผู้สนับสนุนเรียกร้องสิทธิมนุษยชนได้กล่าวว่า กองกำลังของรัฐบาลละเมิดสิทธิ ที่รวมทั้งการฆ่า ข่มขืน และวางเพลิงเผาบ้านเรือนประชาชน แต่รัฐบาลของอองซานซูจี ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีการก่อเหตุละเมิดต่างๆ เหล่านี้
ชาวพม่าส่วนใหญ่มองว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และชาวโรฮิงญาราว 125,000 คน ยังคงไร้ที่อยู่ และเผชิญต่อข้อจำกัดการเดินทางในค่ายพักพิงชั่วคราวนับตั้งแต่การต่อสู้ปะทุขึ้นระหว่างชาวพุทธ และชาวมุสลิมในปี 2555
สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHA) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินการสืบสวนอย่างละเอียด และเป็นกลางต่อรายงานการละเมิดของกองกำลังรักษาความปลอดภัยต่อพลเรือนในรัฐยะไข่ และยังเรียกร้องให้ทหารอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และผู้สื่อข่าวเข้าไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และรายงานความคืบหน้า
“มีรายงานจากรัฐยะไข่ที่ต้องการการสืบสวนที่น่าเชื่อถือ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการป้องกันการละเมิดเพิ่มเติม และตอบสนองต่อความรับผิดชอบในการคุ้มครองสิทธิของพลเมืองทุกคน เรายังคงวิตกอย่างมากว่า ผลของการขาดการกำกับดูแลกองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐบาล จะส่งผลให้ระบบที่มีประสิทธิภาพไม่เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครอง หรือสนับสนุนโอกาสที่พลเรือนจะได้รับความยุติธรรม” ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าว
.
.
.
ซูจี ที่อยู่ระหว่างการเยือนญี่ปุ่นได้พบหารือชาวพม่าพลัดถิ่นในวันนี้ (2) และมีกำหนดพบกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ในวันเดียวกัน
ทูตสหรัฐฯ จีน อังกฤษ และสหภาพยุโรป ได้เดินทางออกจากเมืองสิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ในวันพุธ (2) เพื่อไปยังเมืองหม่องดอ พื้นที่ทางเหนือที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร โดยมีมุขมนตรีรัฐยะไข่ ร่วมเดินทางไปด้วย นอกจากนั้น ในรายชื่อผู้รวมเดินทางที่รอยเตอร์ได้รับยังรวมถึงผู้แทนสหประชาชาติในพม่า และผู้แทนพิเศษจากหลายประเทศ เช่น อินเดีย ตุรีกี และอินโดนีเซีย
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) เรียกร้องให้หน่วยงานบรรเทาทุกข์ได้รับอนุญาตเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนราว 10,000-15,000 คน ที่พลัดถิ่นจากความรุนแรงล่าสุดในรัฐยะไข่
“กิจกรรมด้านมนุษยธรรมช่วยชีวิตที่มีความจำเป็นอย่างมากถูกระงับมานานกว่า 3 สัปดาห์ และพวกเขาต้องการที่จะกลับมาดำเนินการให้ได้โดยเร็วที่สุด” เจ้าหน้าที่จาก UNOCHA กล่าว.
.
.