xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเวียดนามมองหาแรงหนุนต่างชาติรักษาสันติภาพในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีเจิ่น ได กวาง ของเวียดนาม ขณะให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงฮานอย โดยระบุว่าฝรั่งเศสและชาติต่างๆ ควรช่วยรักษาสันติภาพในทะเลจีนใต้ และหวังให้อาเซียนมีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้นในการต่อต้านการเสริมแสนยานุภาพทางทหารของปักกิ่งในน่านน้ำพิพาทแห่งนี้. -- Agence France-Presse/Hoang Dinh Nam.</font></b>

เอเอฟพี - ฝรั่งเศส และประเทศต่างๆ ควรช่วยรักษาสันติภาพในทะเลจีนใต้ ประธานาธิบดีเวียดนามแสดงความเห็นในความไม่สบายใจต่อการขยายอำนาจของจีนในน่านน้ำสำคัญของภูมิภาค

จีนอ้างกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ ที่ได้ถมแนวปะการังสร้างเกาะเทียม และติดตั้งอุปกรณ์ทางทหาร ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดาผู้ที่อ้างสิทธิรายอื่นๆ รวมทั้งเวียดนาม และเพิ่มความวิตกถึงความขัดแย้งทางอาวุธที่อาจเกิดขึ้น

ในการเปิดเผยก่อนการเดินทางเยือนเวียดนาม ของประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ในเดือนหน้า ประธานาธิบดีเจิ่น ได กวาง ของเวียดนามได้กล่าวแสดงถึงความหวังว่าฝรั่งเศส และประเทศต่างๆ จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ความตึงเครียดของภูมิภาคในน่านน้ำดังกล่าว

“เรายินดีต้อนรับเป็นอย่างสูงต่อความร่วมมือจากฝรั่งเศส และประเทศต่างๆ ในกระบวนการของการคงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค ในโลก และทะเลจีนใต้” ผู้นำเวียดนาม กล่าว

ฮานอย และปักกิ่งมีความขัดแย้งทางการทูตเกี่ยวกับหมู่เกาะและน่านน้ำพิพาทในทะเลจีนใต้ และในปี 2557 จีนได้เคลื่อนแท่นขุดเจาะน้ำมันเข้าไปยังพื้นที่พิพาท ที่ก่อให้เกิดเหตุจลาจลในเวียดนาม

น่านน้ำยุทธศาสตร์แห่งนี้ที่ยังถูกอ้างกรรมสิทธิ์โดยฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน เป็นแหล่งสำรองพลังงาน และทรัพยากรในการประมง รวมทั้งเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่คับคั่ง

ความเห็นของผู้นำเวียดนามมีขึ้นหลังจากรัฐมนตรีกลาโหมของฝรั่งเศสกล่าวในเดือน มิ.ย. ว่า จะขอให้ประเทศต่างๆ ในยุโรปดำเนินการลาดตระเวนร่วมกันในทะเลจีนใต้ และในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ได้ส่งเรือรบเข้าไปในน่านน้ำ และให้คำมั่นว่าจะส่งเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งข้อนี้ได้สร้างความขุ่นเคืองต่อปักกิ่ง

ประธานาธิบดีเวียดนาม ที่บทบาทส่วนใหญ่เป็นในเชิงพิธีการ กล่าวว่า การเยือนของประธานาธิบดีออลลองด์ จะช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างอดีตศัตรูอาณานิคม ในขณะที่ฮานอย เพิ่มงบประมาณกลาโหมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ฝรั่งเศส และเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในปี 2556 ที่รวมทั้งการเสริมความร่วมมือด้านการป้องกัน

“แนวทางสำหรับความร่วมมือจะเปิดกว้างขึ้น และแน่นแฟ้นขึ้น เช่น ในด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน” ประธานาธิบดีกวาง กล่าว และเสริมว่า เวียดนามต้องการความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้นในกลุ่ม 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน หลังจากล้มเหลวที่จะรวมเป็นหนึ่งเดียวในการต่อต้านการเสริมแสนยานุภาพทางทหารในทะเลของปักกิ่ง

แม้ฟิลิปปินส์จะชนะคดีที่ยื่นฟ้องจีนต่อศาลกรุงเฮกเกี่ยวกับการอ้างสิทธิส่วนใหญ่ของจีนในทะเลจีนใต้ แต่ปักกิ่งประกาศคว่ำบาตรไม่ยอมรับการพิจารณาของศาล และปฏิเสธที่จะยอมรับคำตัดสินที่มีขึ้น ขณะเดียวกัน อาเซียนเลี่ยงประเด็นดังกล่าว โดยไม่แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้โดยตรงในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อเดือนก่อน.
กำลังโหลดความคิดเห็น