เอเอฟพี - ศาลที่สหประชาชาติให้การสนับสนุนของกัมพูชาได้รับฟังรายละเอียดชิ้นใหม่ที่น่าสะเทือนใจเกี่ยวกับการบังคับแต่งงานของเขมรแดง
เขมรแดงเป็นผู้รับผิดชอบต่อการตายของประชาชนชาวกัมพูชามากถึง 2 ล้านคน ระหว่างปี 2518-2522 หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ในความต้องการที่จะสร้างสังคมยูโทเปียแบบเกษตรกรรม
แต่คำให้การครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ศาลได้รับฟังเกี่ยวกับคู่สามีภรรยาหลายหมื่นคู่ที่ถูกบังคับแต่งงาน และมักเป็นการแต่งงานหมู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะเพิ่มประชากรของเขมรแดง
หญิงรายหนึ่งระบุว่า ถูกผู้บัญชาการทหารเขมรแดงข่มขืน หลังเธอถูกขู่ว่าจะประหารชีวิตเนื่องจากปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์กับสามีที่มาจากการบังคับแต่งงาน
แกนนำเขมรแดงอาวุโสสูงสุดที่ยังมีชีวิตอยู่ 2 คน ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีคือ นวน เจีย อายุ 90 ปี และเคียว สมพร อายุ 85 ปี ทั้งคู่ถูกตัดสินความผิดจากการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ส่วนการพิจารณาคดีที่ 2 กำลังอยู่ในระหว่างการสืบสวนในข้อกล่าวหาร่วมกระทำความผิดในการสังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของกัมพูชา การบังคับแต่งงาน และการข่มขืน
กลุ่มสิทธิมนุษยชน และนักประวัติศาสตร์ระบุว่าการพิจารณาคดีที่ 2 นับเป็นขั้นตอนสำคัญต่อเหยื่อความรุนแรงทางเพศของเขมรแดง
ผู้หญิงคนดังกล่าวที่ในเวลานี้สูงอายุ ปรากฏตัวที่ศาลในชุดสูทสีเข้ม ได้อธิบายต่อศาลว่า เธอถูกบังคับให้แต่งงานในพิธีสมรสหมู่ในช่วงต้นปี 2521 ส่วนผู้ที่ปฏิเสธการแต่งงานมักจะหายตัวไป หรือถูกฆ่า
“พวกเขาบังคับเราให้แต่งงาน” เหยื่อเขมรแดง กล่าว
พยานคนสำคัญรายนี้ยังเล่าถึงวิธีที่ผู้บัญชาการข่มขืน และข่มขู่จะยิงเธอหากเธอไม่ยอมร่วมรักกับคู่สมรส และในภายหลังเธอมีลูกสาว 1 คน ก่อนจะแยกทางกับสามีในช่วงสงครามกลางเมือง แต่ก็กลับมาอยู่กับสามีในภายหลังเพราะแรงกดดันจากสังคม
“ฉันไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง แต่ตอนนี้มันถึงเวลาที่ฉันต้องพูดมันออกมา”
ชายรักชายที่เป็นเหยื่อเขมรแดงอีกรายหนึ่งเผยว่า ถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้หญิง และหลังพิธีแต่งงาน ทหารเขมรแดงจะสอดแนมคู่แต่งงานเหล่านั้น
“เราต้องมีเพศสัมพันธ์เพื่อความอยู่รอด” ชายวัย 75 ปี กล่าวต่อศาล
ยุก ชาง ผู้อำนวยการศูนย์เอกสารกัมพูชาระบุว่า จำเป็นต้องดำเนินการวิจัยอีกมากในกรณีของการข่มขืน และการบังคับแต่งงานในช่วงการปกครองของเขมรแดง
“การข่มขืนเกิดขึ้นภายในการบังคับแต่งงานเหล่านี้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสืบสวนว่าวิธีการนี้เกิดขึ้นแพร่หลายได้อย่างไร แต่ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวในวััฒนธรรมเขมร” ยุก ชาง กล่าว
การพิจารณาคดีล่าสุดคาดว่าจะมีข้อสรุปในช่วงปลายปี และการตัดสินคดีคาดว่าจะเกิดขึ้นในปลายปี 2560.