“กรรมการสิทธิฯ” แนะ กกต. รัฐบาล สร้างบรรยากาศที่ดีก่อนลงประชามติ 7 ส.ค. ชี้ ต้องเปิดโอกาสคนทุกกลุ่มแสดงความคิดเห็นนำสู่ประชาธิปไตย ด้าน “นายกสมาคมฯ” ปลุกผู้หญิงช่วยส่งเสียงสร้างความเท่าเทียม เหตุยังติดหล่มการเลือกปฏิบัติในสังคม หวัง รธน. สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) จัดเสวนาเรื่อง “เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ กับอนาคตของประชาชน” เป็นวันที่สอง โดยมีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว กลุ่มเครือข่ายสตรี 4 ภาค นักศึกษา ทั้งหญิงและชาย เข้าร่วมเวที กว่า 100 คน
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและประธานอนุกรรมการสิทธิผู้หญิง กล่าวว่า หวังว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสร้างความเสมอภาคทางกฎหมายให้กับคนทุกกลุ่มทุกเพศ มีสิทธิได้แสดงความคิดเห็น ขณะนี้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ยังไม่รับทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไม่ดีอย่างไร และเขาจะมีสิทธิแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ประกอบการร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไรบ้าง อีกทั้งโอกาสของผู้หญิงที่เข้าไปเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีเพียง 2 คน หากมีการรับร่างรัฐธรรมนูญต้องมีการทำกฎหมายประกอบอีกหลายฉบับ มีความกังวลว่า การตั้งกรรมาธิการควรมีสัดส่วนผู้หญิง การพิจารณากฎหมาย จากประสบการณ์การทำงาน พบว่า ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิพลเมือง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น การทำงานท้องถิ่น ชุมชน ผู้หญิงยังขาดโอกาสตรงนี้มาก จึงถือเป็นความท้าทายของภาครัฐ
“หลังจากการลงประชามติแล้ว หากมีแนวโน้มไม่ผ่าน คงต้องจับตาดูท่าที คสช. จะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ไม่ได้กังวล หากการทำประชามติครั้งนี้เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ขอฝากถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาล สร้างบรรยากาศที่ดีก่อนลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. นี้ และขอให้เป็นไปอย่างผ่อนคลาย ให้ทุกฝ่ายได้ใช้เหตุผล สร้างการเรียนรู้ไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง” นางอังคณา กล่าว
น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ในฐานะผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การยกร่างรัฐธรรมนูญมาถึงโค้งสุดท้าย เพราะเตรียมจะให้มีการลงประชามติ รับหรือไม่รับร่าง วันที่ 7 สิงหาคม นี้ ดังนั้น ต้องดูว่าความเสมอภาค ความเท่าเทียมระหว่างเพศ การเคารพสิทธิ มีมากน้อยแค่ไหนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมา ผู้หญิงมักจะถูกละเลยอยู่เสมอ เช่น กรณีการใช้สิทธิลาคลอดของผู้หญิงคนหนึ่งถูกตั้งกรรมการสอบสวน เรื่องนี้จึงเป็นการละเมิดสิทธิสตรีชัดเจน และขัดต่อหลักการความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ เนื่องจากมาตรา 48 ระบุว่า สิทธิของมารดาระหว่างก่อนและหลังลาคลอดบุตร ย่่อมได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายกำหนด
“ปัญหาเหล่านี้ยังติดหล่มในสังคม ดังนั้น ขบวนผู้หญิงปฏิรูปฯ จะเฝ้ารณรงค์ ติดตาม ตรวจสอบการลงประชามติ และทำหน้าที่ร่วมกับเครือข่ายทางสังคมในการส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ และเห็นความสำคัญในการเพิ่มบทบาทผู้หญิงในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ เพราะจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ และมีส่วนแก้ปัญหาด้านสังคม โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก รวมทั้งการนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้โดยไม่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านไม่ผ่าน แต่หน้าที่เราคือ การเกาะติดและติดตาม” นางสาวสุเพ็ญศรี กล่าว
น.ส.อรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า อยากให้กลุ่มผู้หญิงช่วยติดตามร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เขียนสวยหรูเขียนดีขนาดไหน ก่อนจะไปลงประชามติ เพราะเป็นภารกิจที่ต้องไปทำให้ตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญเกิดสิทธิความเท่าเทียม เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มผู้หญิงยังถูกเลือกปฏิบัติ ขาดโอกาส แม้แต่การรับสมัครงานยังระบุเพศ ทั้งที่บทบาทของผู้หญิงที่เข้าไปทำงาน ปัจจุบันมีความสามารถ และทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน องค์กร ย่อมสะท้อนถึงความจริงที่ว่า สังคมต้องจัดพื้นที่และโอกาสให้ผู้หญิงได้ทำงานในระดับตัดสินใจในทุกระดับ
“เราจะพัฒนาผู้หญิงให้มีความทัดเทียมได้อย่างไร และเมื่อมีโอกาสการเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการต่าง ๆ ต้องทำหน้าที่ท้วงติง เสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นสิทธิความเท่าเทียมของผู้หญิง และสำหรับองค์กรด้านแรงงาน เราจะเห็นว่า มีลูกจ้างหญิงมีอยู่จำนวนมากในทุกภาคส่วน แต่ยังไม่ได้รับโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการไตรภาคีชุดต่าง ๆ เกี่ยวกับแรงงาน เพราะบางชุดไม่มีตัวแทนลูกจ้างหญิงเป็นกรรมการ ซึ่งกระทรวงแรงงานควรมีการแก้ไขระเบียบว่าด้วยการได้มาซึ่งคณะกรรมการไตรภาคี และกำหนดสัดส่วนให้มีผู้หญิงในคณะกรรมการ เพราะจะเป็นการทำงานที่นำไปสู่การทำงานที่สอดคล้องกับกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ภายใต้้ข้อจำกัด แต่ผู้หญิงต้องออกมาส่งเสียงกระทุ้งให้ดัง ให้เกิดสัดส่วนผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเชื่อว่าในอนาคต ความเท่าเทียม ด้านนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงจะมีเพิ่มขึ้นแน่นอน” นางสาวอรุณี กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่