รอยเตอร์ - อองซานซูจี กำลังเดินทางเยือนจีนในวันนี้ (16) ในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นบททดสอบทางการทูตครั้งใหญ่ที่สุดของรัฐบาลพม่า ในการรักษาสมดุลชะตากรรมของโครงการเขื่อนที่ถูกระงับดำเนินการ โครงการที่จีนให้การสนับสนุนแต่ชาวพม่าคัดค้านอย่างหนัก
การหาทางแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนมิตโสน มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ จะมีความสำคัญสำหรับซูจี ที่ต้องการความร่วมมือจากจีนในการหารือกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ของพม่า ที่ดำเนินการอยู่ตามแนวชายแดนทางภาคเหนือติดกับจีน
“หากผู้นำจีนยกปัญหาเฉพาะเจาะจง เช่น โครงการเขื่อนมิตโสน แน่นอนว่าเราจะอธิบายต่อพวกเขาถึงสิ่งที่พวกเราทำอยู่” อ่อง ลีน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
อดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง สร้างความไม่พอใจให้แก่จีนในปี 2554 ด้วยการสั่งระงับการดำเนินการโครงการเขื่อนไฟฟ้า ที่จุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สาย ในลุ่มน้ำอิรวดี หลังโครงการก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม และประมาณ 90% ของพลังงานที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้จะถูกส่งไปจีน และในเวลานั้น ซูจี เองก็เรียกร้องให้ระงับโครงการเช่นกัน
จีนกล่าวในเดือน มี.ค. ว่า จะผลักดันรัฐบาลให้ฟื้นการดำเนินการโครงการอีกครั้ง และยืนยันว่าข้อตกลงยังคงถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการของรัฐบาลพม่าได้เริ่มทบทวนโครงการเขื่อนไฟฟ้าหลายแห่งในประเทศ รวมทั้งเขื่อนมิตโสน โดยมีกำหนดรายงานผลในวันที่ 11 พ.ย.
หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ส ของจีน รายงานวันนี้ (16) ว่า คณะกรรมการเป็น “สัญญาณว่าอาจมีการประกาศฟื้นโครงการที่จีนลงทุน” และยังระบุว่า ซูจี กำลังเยือนจีนก่อนที่จะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. และมิตรภาพของจีนกับพม่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
“ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านที่ใหญ่ที่สุดของพม่า มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับซูจีที่จะให้ความสำคัญต่อจีน” หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าว
นอกจากโครงการเขื่อนมิตโสน ยังมีโครงการอื่นๆ ของจีนในพม่าที่มีท่าทีของความขัดแย้งปรากฏให้เห็น เช่น โครงการเหมืองทองแดงเลตปะด่อง ที่เกิดเหตุประท้วงซ้ำแล้วซ้ำเล่า และโครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซของจีนที่ตัดผ่านประเทศอีกโครงการหนึ่ง
ซูจี จะใช้เวลาเยือนจีนนาน 4 วัน ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง และมีกำหนดพบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
บางส่วนในจีนยังคงรักษาการติดต่อกับกลุ่มติดอาวุธทางภาคเหนือของพม่า บางกลุ่มที่มีผู้บัญชาการเป็นชาวจีน ดังนั้น ความช่วยเหลือของจีนอาจเป็นกุญแจสำคัญ ในขณะที่รัฐบาลซูจีพยายามจะส่งเสริมสันติภาพ และเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดนไร้กฎหมายเหล่านี้
รัฐบาลของซูจีกำลังจะจัดการประชุมสันติภาพครั้งสำคัญกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ของประเทศในวันที่ 31 ส.ค.