MGRออนไลน์ -- กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้เผยแพร่ภาพเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ติดอาวุธนิวเคลียร์ลำหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ เป็นภาพชุดที่ได้รับความสนใจอย่างมากจาก บรรดาสื่อกลาโหมสำนักต่างๆ ในย่านนี้ เพราะเป็นเรือดำน้ำที่่เกรงขามมากที่สุด รวมทั้งยังประจำฐานทัพเรือภาคตะวันออกไกล ที่คาบสมุทรกัมชัตกา (Kamchatka) ในเขตแปซิฟิกของรัสเซียอีกด้วย
นี่คือเรือดำน้ำเซ็นต์จอร์จ (Saint George) ซึ่งชื่อเต็มๆ คือ Svyatoy Georgiy Pobedonosets (K-433) สมบัติตกทอดมาจากยุคสหภาพโซเวียต ที่ต่อตามโครงการ 667BDR กลุ่มนาโต้เรียกเป็นเรือ "ชั้นเดลตา 3" (Delta III) ในขณะที่ประเทศเจ้าของเรียกเป็น "ชั้นกาลมาร์" (Kalmar-Class) เป็นหนึ่งในบรรดาเรือพี่ๆ น้องๆ ทั้งหมด 43 ลำ ในครอบครัวใหญ่ที่เรียกว่า โครงการ 667B (18 ลำ), 667BD (4 ลำ), 667BDR (14 ลำ) และ 667BDRM หรือ Dalta IV (7 ลำ) ตามลำดับ
เพราะฉะนั้นเรือเซ็นต์จอร์จจึงอยู่ในกลุ่ม เรือล็อตกลางๆของชุด 14 ลำ ทั้งนี้เป็นข้อมูลของสื่อทางการรัสเซีย
เว็บไซต์ของกระทรวงกลาโหมไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากไปกว่า ระบุว่าเรือลำนี้ได้กลับคืนฐานทัพคาบสมุทรกัมชัตกาอีกครั้งหนึ่ง และ มีการจัดพิธีต้อนรับ ผู้บังคับการเรือได้กล่าวรายงานการปฏิบัติงานทั่วไปต่อ รองผู้บัญชาการฐานทัพ ก่อนจะมีการมอบลูกหมูย่างแด่ ผบ.เรือ ตามประเพณีปฏิบัติ
กระทรวงกลาโหมรัสเซียไม่ได้เปิดเผยว่า เรือเซ็นต์จอร์จ "เดินทางกลับ" จากที่ใด เพราะนี่คือความลับสุดยอดของมัจจุราชใต้สมุทร ที่จะต้องไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามทราบเบาะแส จนถูกตรวจจับได้ และ ในขณะเดียวกันถ้าหากตรวจจับพบ ฝ่ายตรงกันข้ามก็ไม่จะไม่เปิดเผยตอ่สาธารณะ ซึ่งเป็นสถานการณ์อันตรายสำหรับเรือดำน้ำ
เรือชั้นกาลมาร์ทั้งหมด ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ติดขีปนาวุธโจมตีแบบ RSM-50 (นาโต้เรียก R-29R) ขีปนาวุธแต่ละลำ ติดหัวรบนิวเคลียร์จำนวน 3 หัว (จากแบบ 1 และ 2 หัวรบที่ติดในรุ่นแรก) แต่ละหัวสามารถพุ่งเข้าหาเป้าหมายต่างกันได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นอาวุธที่น่าเกรงขามมากที่สุดแห่งยุคสมัย และ เรือเดลต้า 3 ก็ยังเป็นเรือรุ่นแรก ที่ติดขีปนาวุธดังกล่าว
เรือที่ต่อตามโครงการ 667B เป็นเรือดำน้ำยุคที่สอง ของโครงการ 667A ที่นาโต้เรียกว่า เรือชั้นแยงกี้ (Yankee-Class) ซึ่งเป็นเรือน้ำโจมตียุทธศาสตร์ ของค่ายคอมมิวนิสต์ใหญ่ในยุคโน้น ลำแรกของโครงการ 667A เข้าประจำการในปี พ.ศ.2510 ส่วนลำแรกในโครงการ 667B ตามกันไปอีก 6 ปีถัดมา
สำหรับการต่อเรือในโครงการ 667BDR (เดลต้า 3) เริ่มขึ้นในปี 2515 ลำแรกเข้าประจำการปี 2519 ติดขีปนาวุธโจมตี R-29R ทุกลำ ซึ่งเป็นขีปนาวุธโจมตียิงจากเรือดำน้ำ หรือ Submarine-Launched Ballistic Missile -SLBM ชนิดแรก โดยสหภาพโซเวียต ลำท้ายสุดเข้าประจำการในปี 2525 คือ ห่างกัน 6 ในช่วงปีที่สงครามเย็นกำลังร้อนระอุ
โซเวียตยังต่อเรือออกมาอีกรุ่นหนึ่งในซีรีส์นี้ รวมจำนวน 7 ลำ ขนาดใหญ่กว่าเดลต้า 3 เล็กน้อย ติดขีปนาวุธนิวเคลียร์รุ่นใหม่แบบ 4 หัวรบ ค่ายนาโต้เรียกว่า เรือดำน้ำชั้นเดลต้า 4 (Delta IV-Class) ทั้ง 7 ลำ เป็นกำลังหลักของกองทัพเรือรัสเซียในทุกวันนี้
เรือชั้นเดียวกันกับเซ็นต์จอร์จลำนี้ มีความยาวตลอดลำ 155 เมตร เป็นเรือขนาด 8,940 ตัน หรือ 10,600 ตัน เมื่อดำน้ำลงใต้น้ำ เครื่องยนต์ให้พลัง 40,000 แรงม้าเรือ หรือ 44,700 กิโลวัตต์ ใช้กำลังพลประจำการ 130 คน ปฏิบัติการต่อเนื่องได้เป็นเวลา 80 วัน ดำลึกที่สุด 400 เมตร นอกจากขีปนาวุธ R-29R แล้ว ทุกลำมีท่อยิงตอร์ปิโดอีก 4 ท่อ
เรือเดลต้า 3 เล็กกว่าเรือชั้นโอไฮโอ (Ohio-class) ของกองทัพเรือสหรัฐ ที่ต่อออกมาภายหลัง ซึ่งเป็นเรือขนาด 16,764 ตัน ยาว 170 เมตร ติดขีปนาวุธโจมตีไทรเด็นต์ 3 (Trident III) ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้สูงสุดถึง 12 หัว แต่ละหัวสามารถพุ่งเข้าทำลายเป้าหมายต่างกันได้เป็นอิสระ รุ่นปรกติที่ไม่ติดอาวุธนิวเคลียร์ จะติดตั้งท่อยิง 22 ท่อ สำหรับยิงจรวดโทมาฮอว์กรวม 154 ลูก
ปัจจุบันกองทัพเรือรัสเซีย ยังเหลือเรือดำน้ำชั้นเดลต้า 3 อยู่เพียง 6 ลำ และ กำลังจะปลดระวางอีก 2 ลำ เนื่องจากใช้งานมานานกว่า 30 ปี ที่เหลืออยู่จะถูกแทนที่ โดยเรือชั้นบอเร (Borei-class) ซึ่งลำแรกขึ้นระวางประจำการเมื่อปี 2549
บอเรเป็นเรือดำน้ำรุ่นแรกที่ออกแบบ และต่อขึ้นในยุคหลังสหภาพโซเวียต พัฒนาไปติดขีปนาวุธโจมตีแบบบูโลวา (Bulava) หรือ SS-NX-30 ในระบบของนาโต้ กองทัพเรือรัสเซียสั่งซื้อไป 4 ลำ จากแผนการนำเข้าประจำการทั้งหมด 8 ลำภายในปี 2563
เช่นเดียวกันกับเรือเซ็นต์จอร์จลำนี้ เรือชั้นโอไฮโอทั้ง 18 ลำ ซึ่งในนั้นมี 14 ลำเป็นเรือติดขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ ที่ใช้งานมาตั้งปี 2519 กำลังจะถูกแทนที่โดยเรือชั้นเวอร์จิเนีย ที่มีขนาดเล็กกว่า แต่ประสิทธิภาพสูงกว่า.
เรือชั้น Delta III เกิดขึ้นจาก โครงการต่อเรือดำน้ำชั้น Yankee ในยุคสงครามเย็น มีทั้งหมด 16 ลำ ติดขีปนาวุธนิวเคลียร์แบบ 3 หัวรบ และ ยังต่อเรือชั้นเดลต้า 4 ติดตามออกมาอีก 7 ลำ ติดขีปนาวุธรุ่นใหม่ แบบ 4 หัวรบ เป็นแรงกดดันสำคัญ ทำให้สหรัฐต้องต่อเรือชั้น Ohio ออกมารับมือแสนยานุภาพยักษ์ใหญ่ค่ายคอมมิวนิสต์เมื่อก่อน โดยติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ ตั้งแต่ 8-12 หัวรบ แต่ทั้งเรือเดลต้าของรัสเซีย และ เรือโอไฮโอของสหรัฐ กำลังถูกแทนที่โดยเรือดำน้ำรุ่นที่ใหม่กว่า เล็กลง แต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น และ น่าเกรงขามยิ่งกว่า. Russian Ministry of Defense. |
2
3
4
5
6
7
8